นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เพื่อประชาสัมพันธ์และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP2) โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน เข้าร่วมงาน ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคม 2566
นายพิเชฐ กล่าวว่า ปัจจุบัน กรมการขนส่งทางราง อยู่ระหว่างการจัดทำแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง หรือ Railway Demand Forecast Model ขึ้น เพื่อให้เป็นแบบจำลองที่มีความแม่นยำในการคาดการณ์การเดินทางของระบบรางโดยเฉพาะ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนและกำหนดนโยบายในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า การกำหนดมาตรการต่างๆ เช่น การปรับอัตราค่าโดยสาร การปรับปรุงทางเข้า-ออกสถานี การเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่น ตลอดจนมาตรการทางกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อเป็นพื้นฐานในการปรับปรุงและพัฒนาบริการด้านระบบราง นำไปสู่การพัฒนาแผนแม่บทรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฉบับใหม่ หรือ M-MAP2 เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งราง ให้เป็นทางเลือกในการเดินทาง เพื่อให้ประชาชนให้มีคุณภาพในการเดินทางดียิ่งขึ้น
ตลอดทั้ง 3 วันภายในงาน มีจะการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ได้แก่ การดำเนินงานโครงการ M-MAP2 การพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง การพัฒนาแบบจำลองความต้องการเดินทางด้วยระบบรางเชิงกิจกรรม มาตรการส่งเสริมการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า รวมทั้ง การเล่าถึงประสบการณ์การพัฒนาระบบรางจากประเทศญี่ปุ่น โดยเจ้าหน้าที่จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JICA โดยหลังการนำเสนอของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละวันแล้วได้เปิดเวทีให้ผู้ร่วมสัมมนาได้สอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
สำหรับโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 นี้ เป็นการศึกษาพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าที่มีความครอบคลุมพื้นที่ที่มีความต้องการเดินทางสูงแต่โครงข่ายยังเข้าไม่ถึง เพื่อบรรเทาการจราจรติดขัดในพื้นที่ศูนย์กลางเมือง รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในภาพรวมของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้มีการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด ลดความซ้ำซ้อน เพื่อลดการลงทุนและงบประมาณในโครงข่ายที่ไม่มีความจำเป็นในสภาวการณ์ปัจจุบัน และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาและแนวคิดการวางผังเมืองในอนาคต ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางของประชาชนให้มีความสะดวก รวดเร็ว มากยิ่งขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 66)
Tags: กรมการขนส่งทางราง, ขนส่งทางราง, พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์, รถไฟฟ้า