ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ราคาสุกรปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือนม.ค. 66 ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 100.5 บาทต่อกิโลกรัม จนถึงในเดือนเม.ย. 66 ลดลงมาเฉลี่ยที่ 86.7 บาทต่อกิโลกรัม และล่าสุดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพ.ค. 66 ราคายังคงลงต่อ เฉลี่ยที่ 84.3 บาทต่อกิโลกรัม
สำหรับสาเหตุสำคัญที่กดดันราคา มาจากฝั่งอุปทานสุกรในตลาดที่มีมากขึ้น ทั้งจากการนำเข้าสุกรในบางรายการที่สูงขึ้น และการกลับมาเลี้ยงใหม่ของเกษตรกรบางส่วน โดยสถานการณ์ราคาขายที่ลดลงสวนทางกับต้นทุนการผลิตที่ยังยืนสูงเช่นนี้ ได้ส่งสัญญาณที่ไม่สู้ดีนักต่อเกษตรกรที่ต้องเผชิญความท้าทายต่อเนื่องจากปีก่อน และยังไม่ฟื้นตัวมากนักจากความบอบช้ำกับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่สร้างความเสียหายอย่างมากในปีก่อน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อประเด็นราคาสุกร และสิ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องเผชิญในปี 66 ดังนี้
- คาดว่าราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มของไทยเฉลี่ยในปี 66 อาจให้ภาพที่ย่อลงจากปีก่อนเล็กน้อยไปอยู่ที่ราว 88-92 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลง 7.5-11.5% (YoY) ผลจากอุปทานสุกรในตลาดที่คงเพิ่มขึ้นเป็นหลัก
- การนำเข้าสุกรจากต่างประเทศอาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากการผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้า เพื่อรองรับความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคบริการจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยแหล่งนำเข้ามาจากประเทศในแถบยุโรป และอเมริกาใต้ ที่มีผลผลิตสุกรจำนวนมาก
- ผลผลิตสุกรในประเทศอาจเพิ่มขึ้น จากปัญหาโรค ASF ที่ให้ภาพบรรเทาลงจากปีก่อน ผ่านการจัดการฟาร์มสุกรที่ดีขึ้นตามระบบ Biosecurity ของเกษตรกรบางส่วน ทำให้คาดว่าผลผลิตสุกรทั้งปี 66 อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนไปอยู่ที่ราว 16.1 ล้านตัว หรือเพิ่มขึ้น 3.5% (YoY) เทียบกับปี 65 ที่เผชิญโรค ASF อย่างรุนแรง ฉุดผลผลิตสุกรทั้งปีให้ลดลงไปอยู่ที่ 15.5 ล้านตัว โดยคาดว่าผลผลิตสุกรทั้งปี 66 จะคิดเป็นปริมาณสุกรราว 80% เมื่อเทียบกับภาวะปกติในปี 64 ที่ไม่มี ASF
ทั้งนี้ ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มในช่วง 4 เดือนแรกของปี 66 เฉลี่ยอยู่ที่ 92.2 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลง 0.8% (YoY) โดยมองไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ คงให้ภาพของราคาที่ลดลงเล็กน้อยจากช่วงก่อนหน้า ตามผลผลิตสุกรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงอย่างอิทธิพลของการเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงครึ่งหลังของปี ที่จะทำให้สภาพอากาศโดยรวมร้อนขึ้น ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสุกรที่ช้าลง และกดดันต่อผลผลิต ทำให้ราคาปรับลดลงไม่มากนัก
ในส่วนของราคาสุกรในปี 66 ที่คาดราว 88-92 บาทต่อกิโลกรัม นับว่ายังคงอยู่บนฐานสูง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต (ปี 60-64 ราคาเฉลี่ยที่ 65.2 บาทต่อกิโลกรัม) เนื่องจากต้นทุนการผลิตยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะต้นทุนพืชอาหารสัตว์อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองนำเข้า รวมไปถึงต้นทุนการผลิตอื่นอย่างราคาน้ำมันและค่าไฟที่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง
สำหรับราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงที่ตลาดในปัจจุบัน ปรับลดลงตั้งแต่ต้นปีตามราคาหน้าฟาร์ม และอาจปรับลงอีกเล็กน้อยในช่วงที่เหลือของปีตามอุปทานที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก ทำให้เฉลี่ยทั้งปี 66 ผู้บริโภคอาจซื้อเนื้อหมูได้ในราคาที่ถูกลงจากปีก่อน โดยคาดว่า ราคาขายปลีกหมูเนื้อแดง (สะโพก) เฉลี่ยทั้งปี 66 อาจอยู่ที่ 160-170 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลง 7.2-12.6%
ส่วนปลายน้ำ คาดว่า ราคาอาหารที่มีเนื้อหมูเป็นส่วนประกอบในร้านอาหาร น่าจะยังทรงตัวในระดับสูง จากต้นทุนการผลิตอื่นในเมนูอาหารที่ยังสูง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการประกอบอาหารของร้านอาหาร เช่น ค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ทำให้ผู้ประกอบการคงต้องประคองผลกำไรโดยรวมไว้
สำหรับโจทย์ใหญ่ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องเผชิญในปี 66 คงหนีไม่พ้นเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ยังยืนสูงต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเฉพาะต้นทุนราคาพืชอาหารสัตว์ ที่ขึ้นอยู่กับราคาในตลาดโลก ซึ่งราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลก ยังยืนสูงตามอุปทานที่ตึงตัวจากความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อ รวมไปถึงต้นทุนราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง
นอกจากนี้ ต้นทุนการจัดการฟาร์มที่เข้มงวดขึ้นเพื่อป้องกันโรค ASF ที่ยังคงมีอยู่ และสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเลี้ยงสุกร โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยที่คงได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะ 2 ปีนี้ (ปี 66-67) ผลผลิตสุกรของไทยน่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่ทันต่อความต้องการบริโภคในประเทศที่เร่งขึ้น ทำให้การนำเข้าในแหล่งที่ได้มาตรฐาน อาจจะยังมีความจำเป็นในระยะสั้น เพื่อบรรเทาการขาดแคลนสุกร แต่ในอีกทางหนึ่งคงกดดันราคา และจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้มีความยากลำบากมากขึ้นโ ดยเฉพาะรายย่อย ทั้งนี้ ในปี 65 ไทยมีปริมาณการนำเข้าสุกรมีชีวิตและเนื้อสุกร เพิ่มขึ้นมากกว่า 2-3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงปกติที่ไม่มี ASF
อย่างไรก็ดี การคลี่คลายสถานการณ์ ASF คงต้องใช้เวลาราว 2-3 ปี ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ไทยน่าจะยังอยู่ในช่วงดำเนินการจัดการกับ ASF ซึ่งปัญหา ASF ก็น่าจะยังวนเวียนส่งผลกดดันต่อปริมาณผลผลิตสุกร อีกทั้งต้นทุนการผลิตที่ยังยืนสูง และส่วนใหญ่เป็นพืชอาหารสัตว์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศในสัดส่วนสูง จึงไม่จูงใจต่อการขยายการผลิตของเกษตรกรมากนัก
รวมไปถึง Climate Change ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันปริมาณการผลิตสุกรไทยในช่วงนี้ให้อยู่ในระดับต่ำ และคงไม่ทันกับปริมาณความต้องการบริโภคในประเทศ ที่มีแนวโน้มเร่งขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ดังนั้น การพิจารณาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตตลอดทั้งสายการผลิตสุกรของไทย นับว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะในส่วนของต้นน้ำที่ควรสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถฟื้นตัว และกลับเข้าสู่ธุรกิจมามีรายได้ที่คุ้มค่าต่อการผลิตอย่างยั่งยืน รวมไปถึงแนวทางการคุมเข้มโรค ASF ไม่ให้ระบาดซ้ำ ก็นับว่ามีความจำเป็น ซึ่งจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อความเสียหายของผลผลิตสุกร และยังเป็นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารของไทยในระยะข้างหน้าอีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 66)
Tags: ราคาหมู, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เนื้อหมู