FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนดีดขึ้นแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวรอลุ้นผลเลือกตั้ง-หวังทุนไหลเข้า

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน เม.ย.66 พบว่า ดัชนีในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.09 เพิ่มขึ้น 15.1% จากเดือนก่อนหน้า โดยยังอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”

นักลงทุนมองว่าการเลือกตั้งในประเทศจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือความคาดหวังต่อการไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รองลงมาคือสถานการณ์การเมืองในประเทศในช่วงเลือกตั้ง และสถานการณ์เงินเฟ้อ

ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

– ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กรกฎาคม 2566) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (ช่วงค่าดัชนี 80-119) เพิ่มขึ้น 15.1% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 110.09

– ความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนสถาบัน อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”

– หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)

– หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO)

– ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเลือกตั้งในประเทศ

– ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)

ผลสำรวจ ณ เดือน เม.ย.66 รายกลุ่มนักลงทุนพบว่า มีเพียงความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติปรับเพิ่มขึ้น 66.7% อยู่ที่ระดับ 125.00 ในขณะที่กลุ่มอื่นปรับลดลง โดยนักลงทุนบุคคลปรับลด 13.6% อยู่ที่ระดับ 96.83 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด 12.5% อยู่ที่ระดับ 87.50 และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 14.3% อยู่ที่ระดับ 112.50

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า SET Index ในเดือน เม.ย.66 ปิดที่ 1,529.12 จุด ปรับตัวลดลง 5% จากเดือนก่อนหน้า จากความกังวลของนักลงทุนในหลายประเด็น อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ไม่เป็นไปตามคาด รวมถึงเศรษฐกิจไทยหลังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการ GDP ไทยปี 66 จาก 3.8% เป็น 3.6% ความกังวลต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในสหรัฐฯ และยุโรปเพื่อดูแลสถานการณ์เงินเฟ้อต่อเนื่อง อีกทั้งสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันและรัสเซีย

โดยในเดือน เม.ย.66 นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องกว่า 7,901 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 66 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 63,960 ล้านบาท ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 14,134 ล้านบาท

ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินในสหรัฐฯและยุโรป แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวและการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยรวมถึงประเทศที่อิงค่าเงินดอลล่าร์เป็นหลัก และอาจกระทบตลาดหุ้นจากการที่บริษัทอาจมีกำไรลดลง นโยบายการเงินของธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลักเพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อ อีกทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะสหรัฐและจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

ส่วนปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลการเลือกตั้งในประเทศซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.66 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งจะกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการขยายตัวของการบริโภคของภาคเอกชน ที่จะเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 31 พ.ค.66

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 66)

Tags: , , , ,