“อนุสรณ์”แนะรบ.ใหม่พุ่งเป้าสร้างไทยเป็นประเทศรายได้ระดับสูง,จับตาปมขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานกรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ เปิดเผยว่า ความไม่แน่นอนในเรื่องการขยายเพดานหนี้สหรัฐอเมริกา และ วิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐฯที่ยังไม่สิ้นสุด มีธนาคารเสี่ยงปิดกิจการเพิ่มเติม เช่น Western Alliance Bank, Pacific Western Bank เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกผันผวนหนักในช่วงหนึ่งถึงสองเดือนข้างหน้าต่อไป โดยเฉพาะนักลงทุนและกองทุนที่ถือพันธบัตรระยะสั้นรัฐบาลสหรัฐฯหรือหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดกลางอาจมีการเทขายหรือแห่ถอนการลงทุนได้

หากไม่ได้มีมาตรการแก้ไขอย่างทันถ่วงทีจนเกิดสถานการณ์ไม่สามารถชำระหนี้ของรัฐบาลกลาง ข้อผูกพันทางการเงินไม่สามารถปฏิบัติได้จากรัฐบาลกลางสหรัฐฯจากสภาพคล่องอาจนำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ หากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่นักลงทุนทั่วโลก และธนาคารกลางทั่วโลกถืออยู่ไม่สามารถปฏิบัติตามพันธสัญญาได้ ไม่สามารถจ่ายเงินต้นคืนหรือดอกเบี้ยได้เป็นการชั่วคราวจากปัญหาสภาพคล่อง ย่อมทำให้ความเสี่ยงในการถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯสูงขึ้น จะทำให้รัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น

หากไม่เกิดปัญหาเรื่องเพดานหนี้สาธารณะด้วยการขยายเพดานหรืองดเว้นการบังคับใช้เพดานชั่วคราวจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มได้อย่างน้อย 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีหน้า ในระยะสิบปีข้างหน้า รัฐบาลสหรัฐฯสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะได้ถึง 750,000 ล้านดอลลาร์

ความจำเป็นในการขยายเพดานหนี้ชั่วคราวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากรัฐบาลคงไม่สามารถเก็บภาษีหรือมีรายได้มากเพียงพอในการชำระค่าใช้จ่ายต่างๆในการบริหารประเทศและปฏิบัติตามพันธสัญญาต่างๆได้ หน่วยงานของรัฐบาลอาจไม่ปิดดำเนินการ หรือ เกิด US Government Shutdown เหมือนที่เคยเกิดขึ้น แต่บรรดาพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ คู่สัญญากับรัฐบาลสหรัฐฯ อาจได้รับเงินล่าช้าลงอย่างมากได้

มีการประเมินเบื้องต้นโดยอิงผลกระทบจากปัญหาเพดานหนี้สาธารณะในอดีต พบว่าต้นทุนในการกู้ยืมของรัฐบาลสหรัฐฯอาจเพิ่มขึ้น 1.3 พันล้านดอลลาร์ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอาจเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ โดยพันธบัตรอายุ 10 ปีอาจเพิ่มถึง 0.80% ดัชนีราคาหุ้นสหรัฐฯอาจปรับตัวลดลงจากระดับปัจจุบันได้อีก 10-20% เศรษฐกิจถดถอยอาจทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้น 2-2.8 ล้านคนในระยะสองปีข้างหน้า

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ความไม่แน่นอนเรื่องการขยายเพดานหนี้สหรัฐอเมริกาเกิดจากแนวทางและนโยบายที่แตกต่างกันระหว่างสมชิกรัฐสภาพรรคเดโมแครต และ พรรครีพับรีกัน โดยพรรครีพับรีกันต้องการให้มีการตัดลดงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆก่อนขยายเพดานหนี้ให้ข้อเสนอของรัฐสภาโดยเฉพาะจากพรรครีพับรีกัน คือ การตัดค่าใช้จ่าย 25 เซ็นต์จากทุกๆหนึ่งดอลลาร์จากงบประมาณค่าใช้จ่ายจากเงินกู้ (ไม่รวมค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย) ความล่าช้าในการจ่ายเงินสวัสดิการและรายจ่ายต่างๆของรัฐบาลกลางสหรัฐฯจะส่งผลอย่างไรต่อ ตลาดการเงิน นักลงทุนในทางลบระดับใดยังคาดการณ์ยาก แต่แน่นอนที่สุดว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในภาพรวมอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การขยับเพดานหนี้สาธารณะจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯคงไม่เข้าแทรกแซงด้วยการพิมพ์เงินให้รัฐบาลไปชำระหนี้ จะยิ่งกดดันให้ความเชื่อมั่นต่อดอลลาร์ลดลง สร้างแรงกดดันเงินเฟ้อ และยังสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพทางการเงินขึ้นมาอีก การขยายเพดานหนี้จึงมีความสำคัญและต้องทำให้ทันต่อเวลา มิฉะนั้นจะสร้างความเสียหายต่อระบบการเงินโลกและความผันผวนอย่างหนักในตลาดการเงินโลกได้

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ต่อไปความถดถอยของบทบาทเงินสกุลดอลลาร์ในตลาดการเงินระหว่างประเทศอาจเร่งตัวขึ้นอีก แม้นในระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริการจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 83.7% ของธุรกรรมทั้งหมดในขณะนี้ก็ตาม กลุ่มประเทศ BRIC และประเทศอื่นๆในตะวันออกกลางได้มีข้อตกลงในการลดการใช้เงินดอลลาร์ลง

พลวัตของสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและระบบการเงินโลกตามที่กล่าวมา เป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งต้องกำหนดนโยบายและมาตรการที่เหมาะสมในการรับมือความท้าทาย ความท้าทายมีทั้งความเสี่ยงและโอกาสต่อเศรษฐกิจของไทย อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงินตลาดหุ้นและเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยสหรัฐฯอย่างจำกัด และน่าจะได้รับผลบวกจากเงินสะพัดในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลใหม่ควรกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ให้ “ประเทศไทย” หลุดพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูง ภายในปี พ.ศ. 2575 อีก 9 ปีนับจากนี้ไทยสามารถหลุดพ้นจากฐานะประเทศด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ สู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำได้ในทศวรรษ พ.ศ. 2530 และ สะดุดลงจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 และ หลังจากนั้นไทยก็ค่อยๆขยับตัวเองจากประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ (a lower middle-income country) สู่ ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (a upper middle-income country) ในเวลาต่อมา แต่ประเทศไทยไม่สามารถหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูงหรือประเทศพัฒนาแล้วได้ อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ “ไทย”ก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในอนาคต เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย

พื้นฐานสุดที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ คือ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยมี”คนไทย” เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เปล่าประโยชน์ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วแล้วคนไทยไม่มีความสันติสุข ไม่มีคุณภาพชีวิต ประเทศรายได้ระดับปานกลางระดับสูง คือประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อคนต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 157,472-488,585 บาทต่อปี ขณะนี้ไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีอยู่ที่ประมาณ 234,000 บาทต่อปี ประเทศไทยติดอยู่กับกับดักรายได้ระดับปานกลางมาไม่ต่ำกว่าสามทศวรรษ

เป้าหมายหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือ การเปลี่ยนสถานะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในปี พ.ศ. 2580 ในขณะที่แผนยุทธศาสตร์ที่ตนเคยร่างเอาไว้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งเป้าหมายให้ “ไทย” ก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศรายได้สูงในปี พ.ศ. 2575 ประเทศรายได้สูงหรือประเทศพัฒนาแล้ว ประชาชนต้องมีรายได้ต่อหัวต่อปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 12,695-13,205 ดอลลาร์ต่อปี หรือ ประมาณ 488,585 บาทต่อปี

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า มีงานวิชาการและงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์มากมายศึกษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศต่างๆในโลกเพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการยกระดับประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วและประเทศรายได้สูง และได้ข้อสรุปสอดคล้องกันว่า ปัจจัยเรื่อง “นวัตกรรมของประเทศ” เป็นสิ่งสำคัญต่อการก้าวข้ามพ้นกับดักของประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง เป็น Breakthrough Growth with country innovation ต้องมีสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีสูง โดยเฉพาะต้องลงทุนในการศึกษาและวิจัยยกระดับผลิตภาพของทุนและแรงงาน นวัตกรรมของประเทศจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

ขณะที่เราไม่สามารถเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมที่สูงยิ่ง การปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายความมั่งคั่งจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ควรมุ่งมั่นสู่การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างเต็มรูปแบบ (Full Economic Liberalization)จะทำให้ระดับการเปิดประเทศของไทยปรับตัวสูงขึ้นไปอีก เดินหน้าเปิดกว้างทางสังคมให้ค่านิยม วิถีชีวิตและวัฒนธรรมประชาธิปไตยหยั่งรากลึกในสังคมไทย

สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยเสริมให้การขยายตัวของตัวแปรด้านเศรษฐกิจมหภาคของไทย (MacroeconomicVariables) จะมีค่าเป็นบวก และตัวแปรทางด้านสวัสดิการสังคมโดยรวมความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ หากการเปิดเสรีการค้ามีผลทำให้การนำเข้าสินค้าปัจจัยทุนเพิ่มขึ้น หรือมีผลทำให้การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศที่เข้ามามากขึ้นนั้นได้นำเทคโนโลยีหรือวิธีการผลิตหรือกระบวนการทำงานใหม่ๆ ประเทศผู้นำเข้าหรือผู้รับการลงทุนเหล่านี้ก็อาจมีแนวโน้มจ้างแรงงานทักษะสูง การเปิดเสรีส่งผลต่อผลิตภาพการผลิตของผู้ประกอบการผู้ประกอบการที่เคยได้รับความคุ้มครองจากกำแพงภาษีจะถูกบีบให้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้แข่งขันกับสินค้านำเข้าให้ได้ การเปิดเสรีภาคการลงทุนอาจทำให้เกิด Positive Spillover Effect จากการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ หากทรัพยากรมนุษย์ภายในประเทศมีระดับการศึกษาสูงและมีคุณภาพ มีพลังดูดซับดี รวมทั้งมีมาตรการในการทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ค. 66)

Tags: , ,