นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา 2023 ICAO Environmental Regional Seminar for the APAC Region โดยระบุว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบาย ส่งเสริมให้กิจการเดินทางในรูปแบบต่างๆ ทั้งถนน ราง น้ำ อากาศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และภาวะเรือนกระจก ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นนั้น การสัมมนาในครั้งนี้ กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ได้ให้ความร่วมมือ ICAO ในการผลักดันร่วมกับประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมด้านการบินดำเนินกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ โดยมีมาตรการต่างๆ ที่รองรับผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือและความรู้ความเข้าใจระหว่างกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการดำเนินการตามแนวทางลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามเป้าหมาย Long Term Aspirational Goal (LTAG) ที่ได้มีการรับรองในที่ประชุมสมัชชา ICAO ครั้งที่ 41 เมื่อเดือนตุลาคม 2565 โดยครั้งนี้มีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐระดับสูงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศต่างๆ ในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วมกว่า 200 คน โดยมีกรอบเป้าหมายใหญ่ที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593) ซึ่งทำให้ประเทศสมาชิกต้องเร่งดำเนินการเพื่อเตรียมตัว
โดยตั้งแต่ปี 2565 กพท.ได้เริ่มดำเนินการภายใต้โปรแกรมโครงการ Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation (CORSIA) ของ ICAO ซึ่งให้สายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศ 8 สาย ได้แก่ การบินไทย, ไทยสมายล์, นกแอร์, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, ไทยเวียตเจ็ท, ไทยไลอ้อนแอร์, เค-ไมล์ แอร์ รายงานข้อมูลปริมาณกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอน เช่น ปริมาณการน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น เพื่อมอนิเตอร์และนำไปสู่การควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนของอากาศยาน ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 70 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการก่อนที่ ICAO จะออกประกาศบังคับ เป็นการเตรียมความพร้อม เพราะต่อไป สายการบินที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด จะต้องจ่ายค่าชดเชย ขณะที่สายการบินที่ควบคุมหรือมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ดี จะได้รับเป็น “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งมีมูลค่าและสามารถขายได้
สายการบินต้องเร่งปรับเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่ต้องยอมรับว่า แม้ทุกประเทศจะเห็นด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก แต่เศรษฐกิจมีความแตกต่างกัน ทำให้ต้องหารือร่วมกัน เพื่อให้เวลาเตรียมตัวสำหรับบางประเทศ ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วอาจจะเริ่มได้ก่อน ส่วนไทยต้องการเร่งดำเนินการ เพราะมีกิจการการบินขนาดใหญ่ มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมาก หากเริ่มได้เร็วจะช่วยลดปัญหาได้เร็ว
“จากข้อมูลพบว่า ช่วงที่เครื่องบินใช้น้ำมันสิ้นเปลืองและปล่อยก๊าซมากคือ ช่วงทำการบินขึ้น ดังนั้น ช่วงแท็กซี่จากหลุมจอดไปยังรันเวย์ ปัจจุบันจะใช้เครื่องยนต์เดียว จากเดิมที่ใช้เครื่องยนต์ทั้งหมด (2 เครื่องยนต์ /4 เครื่องยนต์) ซึ่งจะทำให้ลดการใช้น้ำมันลงได้ 25- 50% หรือช่วงเครื่องบินลดระดับเพื่อเตรียมลงจอด เดิมจะลดระดับแบบขั้นบันได ซึ่งจะมีการเร่งเครื่องหลายรอบ สิ้นเปลืองน้ำมัน ปรับเป็นการลดระดับต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ต้องทำงานร่วมกับวิทยุการบิน เพื่อจัดการจราจรในระดับเพดานบินให้สอดคล้อง ต้องฝึกบุคลากรและมีเครื่องมือเทคโนโลยีที่รองรับด้วย โดยรูปแบบนี้พบว่าลดการใช้น้ำมันได้ 40% เป็นต้น นอกจากนี้การใช้ห้องน้ำบนเครื่องบิน การกดชักโครก 1 ครั้ง ต้องใช้พลังงานเทียบเท่ากับน้ำมัน 1 ลิตร หรือการลดน้ำหนัก ของใช้ และผลิตภัณฑ์บนเครื่อง ทุกเรื่องมีการเก็บข้อมูลไว้หมด ดังนั้นอยู่ที่ว่าจะถึงจุดตื่นตัว และร่วมมือกันอย่างเข้มข้นเมื่อใด”
นอกจากนี้ การสัมมนาครั้งนี้ยังมีหัวข้อหลักเกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงการบินแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels: SAF) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ภาคการบินระหว่างประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ จากปัจจุบันที่ใช้น้ำมันจากฟอสซิล โดยมีความพยามยามในการคิดค้นพัฒนาการใช้น้ำมันจากพืชทดแทน รวมถึงพลังงานสะอาดสำหรับอุตสาหกรรมการบิน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การลดปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมสายการบิน อาจจะมีค่าใช้จ่ายในระยะแรก แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบที่ทำให้ต้องเพิ่มค่าโดยสาร แต่หากไม่มีการเตรียมความพร้อมต่อไป ICAO ประกาศเรื่องคาร์บอนเครดิตแล้วสายการบินทำไม่ได้ จะต้องจ่ายชดเชย นั่นคือต้นทุนเพิ่มที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการเริ่มลงทุนตั้งแต่ตอนนี้เพื่อควบคุมต้นทุนในอนาคตได้ดีซึ่งคุ้มค่ากว่า
สำหรับการสัมมนา 2023 ICAO ครั้งนี้ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูล ประสบการณ์ และการให้ความช่วยเหลือและพัฒนาขีดความสามารถแก่ประเทศสมาชิกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงแนวทางการระดมทุนเป็นเวลา 2 วัน คือวันที่ 3-4 พ.ค. 66 ซึ่งจะมีการนำประเด็นจากการหารือและผลลัพธ์ที่ได้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุม ICAO ว่าด้วยการบินและเชื้อเพลิงทางเลือก (The Third ICAO Conference on Aviation and Alternative Fuels: CAAF/3) ที่จะมีขึ้นในปลายปี 2566 ที่เมืองดูไบ ต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ค. 66)
Tags: กพท., ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซเรือนกระจก, ชยธรรม์ พรหมศร, สุทธิพงษ์ คงพูล, อุตสาหกรรมการบิน