ม.หอการค้าไทย จัดงานเสวนา “Thailand 5.0 ปฏิรูปภาษีเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” โดยมีตัวแทนจาก 6 พรรคการเมืองเข้าร่วมพูดคุยถึงนโยบายด้านภาษีของแต่ละพรรค ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล, พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคเพื่อไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคฯ ยึด 4 หลักการสำคัญในการจัดการภาษี คือ 1.ความเพียงพอของรายได้ 2.ประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี 3.ความเป็นธรรม และ 4.ความง่ายในการจัดเก็บภาษี ทั้งนี้ เห็นว่าการใช้นโยบายรัฐสวัสดิการมีความจำเป็นที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อการดูแลสวัสดิการพื้นฐานของประชาชนได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่จะใช้ทำให้มีเม็ดเงินหรืองบประมาณเข้ามามากขึ้น คือ การจัดเก็บภาษี ซึ่งต้องทำให้ประชาชนทุกคนตระหนักว่าการจ่ายภาษีเป็นหน้าที่ ดังนั้นต้องทำให้การจัดเก็บภาษีมีความง่าย สะดวก ไม่ซับซ้อน และเป็นธรรม
โดยในส่วนของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น มองว่าแม้จะเริ่มมีการจัดเก็บมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังมีปัญหาจากการตีความหมายของคำว่าสิ่งปลูกสร้าง มีความพยายามในการดัดแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อหลบเลี่ยงจะจ่ายภาษีในอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในส่วนนี้มองว่าควรให้อำนาจหน่วยงานท้องถิ่นเข้ามาช่วยกำหนดเกณฑ์ในเรื่องที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้สอดคล้องกับผังเมืองที่เป็นอยู่จริง
มาตรการทางภาษีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น การให้ผู้ประกอบการที่ลงทุนในการลดการปล่อยคาร์บอนฯ หรือใช้พลังงานลดลง สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5-2 เท่า การเก็บภาษีถุงพลาสติกเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนการลดใช้ถุงพลาสติก เป็นต้น
ส่วนภาษีที่เกี่ยวกับศุลกากรในการนำเข้า-ส่งออกนั้น มองว่าจะต้องทบทวนกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค หรือลดความซ้ำซ้อนของหลายหน่วยงาน เช่น กรณีการนำเข้ายา หรืออาหารบางชนิดที่ได้ผ่านมาตรฐานในต่างประเทศแล้ว ก็ให้สามารถใช้ได้ในประเทศไทย เช่น องค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ก็สามารถนำเข้ามาได้เลย
นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า แนวคิดหลักของพรรคในเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจรวมถึงโครงสร้างภาษี คือ เน้นการแข่งขันที่เป็นธรรม ลดบทบาททุนผูกขาด เปลี่ยนให้เป็นทุนเผื่อแผ่ ไม่เน้นการแจกเงินหรือนโยบายประชานิยม แต่เน้นโอกาสนิยม เพราะการแจกเงินมักจะตามมาด้วยการปรับขึ้นภาษีเสมอ
ดังนั้น พรรคจึงมีนโยบายที่มุ่งหารายได้และสร้างโอกาสให้กับประชาชน หรือผู้ที่ทำธุรกิจรายย่อยให้สามารถลืมตาอ้าปากได้ โดยตั้งเป้าจะหารายได้เข้าประเทศ 5 ล้านล้านบาท และมุ่งปรับโครงสร้างในกลุ่มที่สำคัญ คือ ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของทุกธุรกิจ, การเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อให้คนตัวเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบได้ง่ายขึ้น ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้นอกระบบ และการลดภาษีเงินได้ในกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่ถึง 4 หมื่นบาท/เดือน เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ
“อะไรที่เป็นภาษีในเรื่องตลาดหลักทรัพย์ จะพยายามไม่ให้มี ยกเลิก เราจะใช้ภาษีเพื่อกระตุ้นการแข่งขันและเพิ่มโอกาส ดังนั้นเมื่อไม่เน้นการขึ้นภาษี เราจะเน้นการขยายฐานภาษี จัดเก็บทั่วถึง เท่าเทียม ปรับหลักเกณฑ์ทางบัญชีที่ยุ่งยากให้ง่ายขึ้น จูงใจให้ SME เข้ามาสู่ระบบการเสียภาษี โดยรัฐต้องให้ซอฟต์แวร์การจัดทำบัญชีฟรีแก่ SME” นายวรวุฒิ กล่าว
ส่วนนโยบายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น มีนโยบายจูงใจให้แก่ผู้ที่นำที่ดินเปล่าหรือที่รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไปสร้างสวนสาธารณะ จะสามารถรับประโยชน์ในการยกเว้นภาษี เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายลดภาษีหลังคาโซลาร์รูฟท็อป โดยให้นำส่วนต่างที่ได้รับการลดภาษีนี้ มาผ่อนชำระ ซึ่งภายใน 5 ปี จะได้โซลาร์รูฟท็อปฟรี สามารถทำได้ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1 ล้านหลังคาเรือน คิดเป็นเม็ดเงิน 2-3 แสนล้านบาททันที
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องภาษีเป็นสิ่งที่ยึดโยงกับรายได้รัฐ ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงที่หลายพรรคต่างมีนโยบายหาเสียง จึงมีทั้งการลด แลก แจก แถม จึงขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะจะมีผลต่อการขาดดุลงบประมาณ และรายได้รัฐในอนาคต ซึ่งพรรคต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตมากกว่านี้ ซึ่งเมื่อประชาชนและธุรกิจมีรายได้มากขึ้น ก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น
กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ควรต้องเพิ่มแรงจูงใจด้วยการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนให้มากขึ้น เช่น การหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบุตร จากปัจจุบันที่ 30,000 บาท/รายนั้น เป็นอัตราที่ใช้มานานแล้ว ซึ่งอัตราที่เหมาะสมกับปัจจุบันควรเพิ่มเป็น 1 แสนบาท/คน ซึ่งจะแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันที่มีประชากรสูงวัยมากขึ้น ขณะที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ต่อปีมีจำนวนลดลงค่อนข้างมาก
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จะเสนอให้ยกเลิกการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และหันกลับไปใช้ภาษีโรงเรือนเหมือนเดิม เนื่องจากมองว่าเป็นการออกภาษีอย่างไม่รอบคอบ และไม่ได้ผ่านการพิจารณาของสภาฯ
“ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ออกมาในปี 2562 ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของสภาฯ การออกกฎหมายอย่างไม่รอบคอบ ทำให้เกิดปัญหา หลักการทางภาษีของไทย คือ ความสามารถในการจ่าย เพราะการใช้อัตราภาษีใส่ไปในมูลค่าทรัพย์ ทำให้หน่วยงานที่มีความสามารถในการจ่ายภาษีโรงเรือนที่ดี กลับต้องภาษีลดลงไปมาก ในขณะที่คนที่ไม่เคยต้องจ่าย กลับต้องจ่ายมากขึ้น เจตนาลดความเหลื่อมล้ำไม่เกิดขึ้นแน่” นายกิตติรัตน์ กล่าว
ส่วนอัตราภาษีของกรมสรรพากรนั้น สมัยเป็น รมว.คลัง ได้ดูแลเรื่องการลดอัตราภาษีอย่างจริงจัง ภาษีเงินได้นิติบุคคลเคยสูงถึง 30% และได้ปรับลดงมาเหลือ 23% และ 20% ตามลำดับ จากที่มีข้อกล่าวหาว่าภายใต้อัตราภาษีที่ลดลงนี้ จะทำให้มีรายได้รัฐไม่เพียงพอ ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อมีการขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น เศรษฐกิจเติบโตขึ้น การมีรายได้รัฐที่สูงขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องได้จากการเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นเสมอไป แต่เป็นเพราะความร่วมมือจากผู้ประกอบการ
“ดังนั้น หากผมยังอยู่ต่อ ในเวลานั้น ป่านนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลอาจลดลงได้มากกว่า 20% แล้ว เพราะเราต้องการให้ประเทศไทยแข่งขันได้กว่าประเทศอื่นๆ ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเหตุผลหนึ่งในการตัดสินใจเข้ามาประกอบธุรกิจหรือไม่ และเป็นอีกเหตุผลที่ภาคธุรกิจจะให้ความร่วมมือในการจ่ายภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่” นายกิตติรัตน์ กล่าว
ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยอมรับว่าเห็นใจที่ประชาชนมีค่าครองชีพสูงขึ้น ดังนั้นการเพิ่มค่าลดหย่อนจึงมีความจำเป็น แต่ไม่ควรขยับอัตราภาษีแบบขั้นบันไดภาษีให้ต่ำลง เพราะอัตราภาษีแบบขั้นบันไดในปัจจุบันมีความเหมาะสมแล้ว แต่สิ่งที่ควรทำคือให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจที่จะเสียภาษีมากกว่า
ส่วนกรณีการเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นนั้น ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีจากกำไรที่ได้จากการขายหุ้นของบุคคลธรรมดา เพราะมองว่าไม่คุ้มค่า และยังมีความยุ่งยาก
ด้านนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ประธานที่ปรึกษาพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า การกำหนดนโยบายภาษีจะต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน มียุทธศาสตร์ระยะยาวในการหารายได้ให้เพียงพอ อีกทั้งต้องคำนึงถึงเสถียรภาพทางการคลัง และให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กรณีของกรมสรรพากร ที่ใช้เกณฑ์คำนวณผู้ที่มีเงินได้ไม่ถึง 150,000 บาท/ปี ไม่ต้องเสียภาษีนั้น ปัจจุบันสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ควรปรับเป็น 200,000 บาท/ปี เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรปรับปรุงเรื่องการลดหย่อนให้เป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษี การขยายฐานภาษี เพื่อให้คนที่มีรายได้แต่ไม่อยู่ในระบบภาษี ให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น ก็อาจทำให้ลดอัตราการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงได้ รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้มากขึ้นด้วย
“ถ้าดึงเข้ามาในระบบมากขึ้น จะมีรายได้จากฐานภาษีใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น รายได้รัฐบาลก็จะมีมากขึ้น แต่นี่เราหากินอยู่กับคน 10 ล้านคนที่เสียภาษี คนที่เหลืออีกตั้ง 50 ล้านคนไม่ได้จ่าย นี่คือความไม่ยุติธรรม เพราะมีคนมีรายได้ แต่ไม่เสียภาษี” นายไตรรงค์ ระบุ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า แนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บภาษีอากร ประกอบด้วย 1.การแก้ไขกฎหมาย โดยบริหารจัดการให้การจัดเก็บภาษีของทั้ง 3 กรมมีความสอดคล้องกัน 2.การใช้ IT ดิจิทัล ต้องบูรณาการบริหารการจัดเก็บภาษีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้เกิดประโยชน์กับระบบการจัดเก็บภาษี 3.ปรับมาตรการภาษีเพื่อจูงใจ และ 4.บูรณาการระบบรายงานภาษี เช่น ลดจำนวนเอกสารที่ไม่จำเป็น เชื่อมโยงเอกสารฉบับเดียวร่วมกันของทุกหน่วยงาน เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 66)
Tags: พรรคประชาธิปัตย์, พรรคเพื่อไทย, ภาษีที่ดิน, รายได้, หอการค้าไทย