นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงการดูแลผลกระทบประชาชนเรื่องค่าไฟฟ้าว่า กฟผ. ใช้หลักการบริหารจัดการเดินเครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนเชื้อเพลิงราคาต่ำที่สุดก่อน จนถึงเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนสูงขึ้นตามลำดับ โดยเงื่อนไขการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้า กฟผ. ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
สำหรับค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 66 กฟผ. ได้สั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทั้งของ กฟผ. และเอกชน โดยพิจารณาจากต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำที่สุด ที่มีราคาซื้อไฟฟ้าตั้งแต่ 2 บาท/หน่วย ไปจนถึง 9.85 บาท/หน่วย ซึ่งปริมาณการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนในราคา 6.11 – 9.85 บาท/หน่วย มีปริมาณน้อยมาก คิดเป็น 7% เท่านั้น เมื่อนำมาเฉลี่ยกับโรงไฟฟ้าอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่าแล้ว จึงทำให้ค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 66 อยู่ที่ราคา 4.72 บาท/หน่วย
โดยการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนในราคา 6.11 – 9.85 บาท/หน่วย เป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซล ซึ่งมีราคาถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าด้วย Spot LNG ที่ราคา 7.91 – 11.36 บาท/หน่วย ดังนั้นคณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน จึงได้พิจารณาให้เดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซล แทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงนำเข้า Spot LNG ทั้งนี้ในช่วงที่มีสถานการณ์พลังงานปกติ อ้างอิงจากค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 64 ค่าซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยจาก 5 โรงไฟฟ้านี้ จะเท่ากับ 2.94 บาท/หน่วยเท่านั้น
“ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า กฟผ. บริหารจัดการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างมีหลักการ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด”
รองผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 66)
Tags: กฟผ., ค่าไฟฟ้า, ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน, ผลิตไฟฟ้า