KKP มองนโยบายพรรคการเมืองยังไม่ตอบโจทย์แก้เศรษฐกิจไทยเชิงโครงสร้าง

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ภาพรวมนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในปัจจุบันว่า มุ่งเน้นตัวเลขการให้เงินสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินสวัสดิการ เงินอุดหนุน การแจกเงิน หรือการพักหนี้ โดยอาจหย่อนการพิจารณาด้านความเป็นไปได้ และต้นทุนของนโยบาย ทั้งในมิติของค่าเสียโอกาส และผลที่จะตามมาจากการบิดเบือนแรงจูงใจ และกลไกตลาดอย่างจริงจังและเพียงพอ ตรงกันข้าม นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ต้นตอเชิงโครงสร้าง และยกระดับรายได้ในระยะยาวที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพลิกประเทศ กลับยังไม่ถูกหยิบยกมาอภิปรายอย่างเด่นชัด

เศรษฐกิจไทยกำลังจะโตช้าลงเรื่อย ๆ ต่อเนื่องมานับ 10 ปี และช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค โดยเกิดจากความสามารถในการสร้างผลผลิตของไทย ที่มีแนวโน้มแย่ลงในหลายมิติ ซึ่งชัดเจนว่าเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยเฉพาะนโยบายกระตุ้นอุปสงค์ระยะสั้น เห็นได้จาก

1) การส่งออก ที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย เริ่มอ่อนแรงลงจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

2) ภาคการท่องเที่ยว ที่ก้าวขึ้นมาเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจสำคัญตั้งแต่ปี 2555 ถึงแม้จะฟื้นตัวได้หลังโควิด แต่ในอนาคตอาจไม่สามารถเป็นกำลังขับเคลื่อนหลักได้ดีเท่าในช่วงที่ผ่านมา

3) ภาคเกษตรไทย ที่มีสัดส่วนแรงงานถึง 1 ใน 3 ของประเทศ ประสบกับปัญหาผลิตภาพที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเหมาะสม

KKP Research ต้องการนำเสนอโจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทยที่เราต้องช่วยกันตอบ ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศไทยกำลังเผชิญในปัจจุบัน และกำลังทวีความรุนแรงขึ้นในหลายด้าน คือ

1) จำนวนแรงงานไทยที่กำลังจะหายไปอีก 3 ล้านคนภายในปี 2573 และ 11 ล้านคนภายในปี 2593

2) โลกที่กำลังเผชิญกับการทวนกลับของโลกาภิวัตน์ (deglobalization) และการดึงกลับของฐานการผลิต (reshoring) ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศเริ่มลดลง

3) การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (Technology Disruption) ความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมเก่า

4) การแข่งขันในตลาดที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ธุรกิจไทยขาดแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรม เกิดการกระจุกตัวของรายได้และกำไรของบริษัท

5) คุณภาพการศึกษาไทยที่ด้อยลง ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่สูงขึ้น

6) การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มขั้น (super aged society) ของไทย ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาด้านการคลัง ระบบสาธารณสุขและภาระสวัสดิการของภาครัฐ

7) ความมั่นคงทางพลังงาน และการขาดดุลด้านพลังงานกำลังรุนแรงขึ้น จากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังลดลง

8) ปัญหามลพิษและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และการขาดมาตรการรับมือที่เหมาะสมของไทย

ทั้งนี้ หากยังไม่มีการดำเนินนโยบายที่ตอบโจทย์ใหญ่ข้างต้น หรือนโยบายยังเป็นไปในแบบที่เกิดขึ้นในอดีต มีแนวโน้มที่จะเกิดผลลัพธ์ดังต่อไปนี้

ผลลัพธ์ที่ 1 คนไทยขาดความมั่นคงในรายได้ รายรับโตไม่ทันกับรายจ่าย เป็นหนี้เรื้อรัง ความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลงทั้งในภาคการผลิต การส่งออก การท่องเที่ยว และภาคการเกษตร จะเป็นปัจจัยที่ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยโตช้าลงเรื่อย ๆ ในขณะที่รายจ่ายของคนไทยมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเร็ว จากทั้งเงินเฟ้อที่อาจอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีต จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจและการค้าโลก ค่าใช้จ่ายราคาพลังงาน และค่าไฟฟ้าในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการพึ่งพาการนำเข้า LNG เพื่อผลิตไฟฟ้ามากขึ้น

ผลลัพธ์ที่ 2 โอกาสที่คนที่เกิดมาจนจะถีบตัวเองขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางหรือคนรวย (economic mobility) จะเป็นไปได้ยากขึ้นมาก ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และสินทรัพย์รุนแรงเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกอยู่แล้ว โดยกลุ่มคนรวยมีรายได้ที่เติบโตเร็วกว่ากลุ่มคนรายได้น้อยมาโดยตลอด การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มโตได้ช้าลงในอนาคต ปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านคุณภาพการศึกษา การผูกขาดทางธุรกิจของทุนใหญ่ จะทำให้โอกาสของคนรายได้น้อยในการเติบโตและสร้างความมั่นคงในชีวิต ครอบครองสินทรัพย์พื้นฐาน เช่น ที่ดิน ที่อยู่อาศัย เป็นไปได้ยากขึ้นมากในอนาคต

ผลลัพธ์ที่ 3 คนไทยต้องแบกรับภาระภาษีมากขึ้น สวัสดิการจากภาครัฐอาจต้องลดลง จากภาระการคลังของภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการ เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ ในขณะที่รายรับภาครัฐจะลดลงจากฐานภาษีที่แคบลง ตามการลดลงของคนวัยทำงาน ระดับหนี้สาธารณะที่อาจแตะขอบบนของเพดานได้ จะทำให้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายภาครัฐ อาจจำเป็นต้องลดสวัสดิการของประชาชนลง เพื่อลดค่าใช้จ่ายหรือเก็บภาษีเพิ่มขึ้นกับผู้จ่ายภาษีในระบบเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มรายได้ของภาครัฐให้ทันกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

ผลลัพธ์ 4 ชีวิตเปื้อนฝุ่น ปัญหาสุขภาพ และข้อจำกัดในการใช้ชีวิต ปัญหามลพิษของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากฝุ่น PM 2.5 ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากจะสร้างข้อจำกัดในการใช้ชีวิตของผู้คนแล้ว ยังเป็นสาเหตุให้คนไทยเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 14% กระทบต่อพัฒนาการของเด็กในหลายมิติ และมีแนวโน้มส่งผลกระทบกับอาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น หาบเร่แผงลอย ก่อสร้าง มอเตอร์ไชค์รับจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรายได้น้อย จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากฝุ่นได้ยาก เป็นอีกหนึ่งปัจจัยซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

KKP Research ระบุว่า หากโจทย์ใหญ่เชิงโครงสร้าง 8 ด้าน ยังเป็นเหมือน “คำถามที่ยังไม่มีใครตอบ” จะนับเป็นการเสียโอกาส โดยเฉพาะในเมื่อนโยบายที่อาจแก้ปัญหาได้ตรงจุด บ่อยครั้งก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินภาครัฐมากเท่ากับวิสัยทัศน์ การมีเป้าหมายที่ชัดเจน และความกล้าทางการเมือง ตัวอย่างเช่น การปฏิรูปกฎหมายแรงงาน การแก้กฎหมายเพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและลดการผูกขาด การให้ความคุ้มครองด้านสิทธิทางปัญญาที่ได้มาตรฐานสากล การปฏิรูประบบการศึกษา การปฏิรูปโครงสร้างภาษี เป็นต้น

ดังนั้น การมีส่วนร่วมของประชาชนที่สำคัญ คือ การตั้งคำถามต่อนโยบาย โดยเฉพาะในมิติที่ว่า 1) ทำได้จริงไหม 2) มีต้นทุนเท่าไร และจะจ่ายอย่างไร 3) คุ้มค่าหรือไม่ 4) ผลข้างเคียงคืออะไรจะเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร และ 5) แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อให้พรรคการเมืองมีความรับผิดชอบต่อการนำเสนอนโยบาย อันจะสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการทำนโยบายที่คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนบน วิถีของประชาธิปไตย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 66)

Tags: , , ,