รมว.คลัง คาดกลางปีส่งออกเริ่มฟื้น ท่องเที่ยวยังเป็นหลักขับเคลื่อนศก.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ประเมินว่า สถานการณ์ภาคส่งออกของไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 หรือกลางปี 2566 เป็นต้นไป แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงชะลอตัว เนื่องจากเชื่อว่าประชาชนจะเริ่มปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ซื้อสินค้าที่มีคุณภาพรองลงมาในราคาที่เหมาะสมกับกำลังซื้อ ซึ่งตรงนี้จะมีส่วนช่วยทำให้กำลังซื้อในตลาดทั่วโลกฟื้นตัวได้ดีขึ้น

“ยอมรับว่า การส่งออกของไทยชะลอตัวตั้งแต่ปลายไตรมาส 4/65 และติดลบมา 5 เดือนติดต่อกัน จาก order สินค้าที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนสินค้าเกษตรยังไปต่อได้ ขณะที่การส่งออกรถยนต์ น่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย ส่วนภาคบริการนั้น การท่องเที่ยวของไทยยังขยายตัวได้ดี ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างมาก” นายอาคม กล่าว

รมว.คลัง ยังกล่าวถึงภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลว่า ตัวเลขการจัดเก็บรายได้ 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-ก.พ.66) ยังสามารถจัดเก็บได้เกินเป้าหมาย และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลดีที่ทำให้รัฐบาลสามารถบริหารโครงการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ออกนโยบายที่มีการใช้เม็ดเงินในการดำเนินโครงการจำนวนมาก จนหลายฝ่ายกังวลว่าอาจกระทบกับแผนการคลังระยะปานกลางนั้น นายอาคม ตอบสั้นๆ ว่า “ตรงนี้ยังไม่เกิดขึ้น อยากให้รอดูไปก่อน”

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตา โดยเฉพาะสถานการณ์ในตลาดการเงินโลก จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้ แม้ว่าในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา จะมีผลกระทบจากปัญหาของสถาบันการเงินในสหรัฐ 2 แห่ง จนทำให้ตลาดคาดการณ์ไปว่าเฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย หรือปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับที่น้อยกว่าเป้าหมายก็ตาม โดยเมื่อเฟดยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ก็จะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดทั้งหมดด้วย ดังนั้นการเข้ามาลงทุนในพันธบัตรของไทยต้องดูจังหวะเวลา เพราะช่วงนี้เป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งอาจมีผลกระทบกับภาระการชำระหนี้ของรัฐบาลบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ได้มากนัก เนื่องจากปัจจุบันภาระหนี้ราว 85% ของไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นการกู้ในประเทศ และกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ส่วนภาระหนี้อีก 15% นั้น เป็นแบบอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงตามภาวะตลาด จึงอาจได้รับผลกระทบในส่วนนี้บ้าง แต่ที่ผ่านมา ก็มีการบริหารจัดการหนี้อย่างเหมาะสม อาทิ การเจรจายืดหนี้ออกไป เป็นต้น

รมว.คลัง กล่าวว่า ในส่วนของไทยเอง จำเป็นจะต้องติดตามสถานการณ์ แต่ถามว่าสถาบันการเงินของไทยเข้มแข็งเพียงพอหรือไม่ เรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำหน้าที่กำกับดูแล ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการรายงานว่าสถาบันการเงินมีการกันสำรองอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ขณะเดียวกันทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยก็มีเพียงพอ จึงสามารถยืนยันได้ชัดเจนว่าฐานะการเงินและการคลังของไทยยังมีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 66)

Tags: , , , ,