ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์มีแนวโน้มที่ไม่แน่นอน และมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
MAS ระบุในรายงานรอบครึ่งปีในวันนี้ว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2565 โดยได้รับผลกระทบจากการหดตัวของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้า ท่ามกลางการชะลอตัวของการผลิตทั่วโลก
สำหรับเงินเฟ้อนั้น MAS ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ของสิงคโปร์ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสิ้นปี 2566 โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3.5% – 4.5% ในปี 2566
นอกจากนี้ MAS คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกและอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบจากการคุมเข้มนโยบายการเงิน
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวเพียง 0.1% ในไตรมาส 1/2566 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงอย่างมากจากไตรมาส 4/2565 ที่มีการขยายตัว 2.1%
ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ที่อ่อนแอลงในไตรมาส 1 ส่งผลให้ MAS ตัดสินใจคงนโยบายการเงินในการประชุมวันดังกล่าว ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางจะเดินหน้าใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน
MAS ระบุในแถลงการณ์ว่า “เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งตัวเลข GDP ของสิงคโปร์ที่อ่อนแอลงในไตรมาส 1 ปีนี้ ธนาคารกลางเห็นสมควรที่จะคงนโยบายการเงินในการประชุมครั้งนี้ หลังจากที่ดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินติดต่อกันในการประชุม 5 ครั้งนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2564 โดยธนาคารกลางเชื่อว่า การใช้นโยบายคุมเข้มหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมานั้นจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 66)
Tags: ธนาคารกลางสิงคโปร์, สิงคโปร์, เศรษฐกิจสิงคโปร์, แบงก์ชาติสิงคโปร์