ร้อนจัด! ดันค่าไฟ-ค่าอาหาร-ค่าใช้จ่ายสุขภาพสูงตาม

จากสถานการณ์ปัจจุบัน มักจะได้ยินข่าวเรื่องค่าไฟแพงเป็นที่พูดถึงกันมากในช่วงนี้ ซึ่งโดยปกติแล้วอุณหภูมิก็มักจะสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเราให้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า จากความต้องการใช้ไฟที่มีมากขึ้นในช่วงที่อากาศร้อน สะท้อนจากค่าพลังความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Maximum Demand) ที่มักจะพบว่าอยู่ในช่วงฤดูร้อนทั้งหมด

โดยในปี 2566 คาดว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค. จากเดือนก.พ. น่าจะมากกว่าปีก่อนๆ ด้วย ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อน นอกจากจะกระทบกับค่าไฟให้ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ยังอาจกระทบกับค่าใช้จ่ายในหมวดอื่นๆ ให้สูงขึ้นด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น อาจกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเพิ่มเติมที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายครัวเรือนให้ปรับเพิ่มขึ้นใน 3 หมวดหลักๆ ได้แก่

1. ค่าไฟฟ้า จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ในช่วงฤดูร้อนปี 2566 ค่าไฟของครัวเรือนต่อเดือนเฉลี่ยของผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองเพิ่มขึ้นราว 30-50% ทำให้คาดว่าค่าไฟฟ้าของครัวเรือนเฉลี่ยในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค. ในปีนี้จะอยู่ที่ราว 974-1,124 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดือนอื่นๆ ของปีที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 871 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งเป็นไปตามค่า Ft เฉลี่ยปีนี้ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน รวมไปถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าที่กลับมาสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยในช่วง มี.ค.-พ.ค. 66 ปริมาณการใช้ไฟเฉลี่ยของครัวเรือนอาจเพิ่มขึ้นราว 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนอื่นๆ ของปี

นอกจากนี้ อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มทำงานหนักขึ้น โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นที่ต้องใช้อัตราการใช้ไฟฟ้ามากกว่าปกติเพื่อที่จะทำงานให้ได้เท่าเดิม ส่งผลให้ครัวเรือนต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น

จากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายครัวเรือนในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค. ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่อาจกระทบคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองเป็นหลัก จากการใช้เครื่องปรับอากาศเพิ่มมากขึ้น แต่ผลกระทบอาจจะลดลงในช่วงเดือนอื่นๆ ของปีที่อุณหภูมิไม่สูงมากนัก ซึ่งก็น่าจะทำให้ค่าไฟ และความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงตาม

อย่างไรก็ดี ด้วยสภาพการณ์ปัจจุบันที่ครัวเรือนยังคงประสบกับภาวะค่าครองชีพที่สูง ทั้งต้นทุนพลังงาน (ค่าเดินทาง) และต้นทุนทางการเงินที่ยังยืนสูง (หากครัวเรือนมีหนี้หรือจำเป็นต้องกู้ยืม) ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนอาจจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา

2. ค่าอาหาร พบว่ามักจะขยับสูงขึ้น จากผลของราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด กระทบผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงหรือเกิดการเน่าเสียได้ง่ายกว่าปกติ โดยราคาหมูเฉลี่ยพบว่าปรับเพิ่มขึ้นราว 2% เละราคาผักและผลไม้ที่ค่อนข้างแพงกว่าปกติในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค. โดยเฉพาะราคามะนาวที่ปรับเพิ่มกว่า 50% เมื่อเทียบกับราคาในช่วงเดือนอื่นๆ ของปี นอกจากนี้ ธุรกิจร้านอาหารก็มีต้นทุนส่วนเพิ่มจากการที่ต้องใช้น้ำแข็งและตู้แช่เพื่อเก็บรักษาวัตถุดิบบางประเภทที่เน่าเสียง่าย เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์ เป็นต้น

3. ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ คาดว่ามีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากการใช้จ่ายเพื่อรักษาโรคที่มากับความร้อน เช่น โรคไมเกรน อาหารเป็นพิษ โรคทางผิวหนัง เป็นต้น รวมไปถึงกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงที่อาจจะมีค่าใช้จ่ายในหมวดนี้เพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว กลุ่มเปราะบาง (เด็กและสตรีมีครรภ์) และกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ขณะที่ ค่ายา/เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงตามต้นทุน

จากอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มขึ้นในปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนทั้ง 3 หมวดนี้ (ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายสุขภาพ) จะคิดเป็นจำนวนเงินราว 9,666 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ปี 2565) ที่อยู่ที่ราว 8,868 บาทต่อครัวเรือน หรือขยายตัวราว 9.0%YoY

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของค่าอาหารที่เป็นสัดส่วนค่อนข้างมากในค่าใช้จ่ายครัวเรือน (ราว 34%) พบว่า น่าจะทรงตัวในระดับสูงแม้จะผ่านช่วงหน้าร้อนไปแล้ว ขณะที่ค่าไฟฟ้าที่เป็นสัดส่วนน้อย (ราว 3%) คาดว่าอาจปรับลดลงได้ในช่วงเดือนอื่นๆ ของปีนี้ที่อากาศร้อนน้อยลง รวมทั้งมีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาครัฐในเดือนพ.ค. บางส่วนด้วย

ค่าใช้จ่ายครัวเรือนของทั้ง 3 หมวดนี้คิดเป็นสัดส่วนราว 39% ของค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด ท่ามกลางค่าครองชีพที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่รายได้ยังใกล้เคียงเดิม ทำให้ครัวเรือนต้องมีการปรับลดค่าใช้จ่ายหมวดอื่นๆ ที่อาจมีความจำเป็นน้อยกว่า เช่น ลดการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้า Non-food (เสื้อผ้า รองเท้า) เป็นต้น เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายใน 3 หมวดที่ปรับเพิ่มขึ้น

นอกจากค่าใช้จ่ายทั้ง 3 หมวดที่ได้กล่าวไปแล้ว สภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นก็อาจส่งผลให้ค่าใช้จ่ายหมวดอื่นๆ ปรับเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ค่าครีมกันแดด ค่าเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์กันแดด รวมถึงอาจมีค่าเสียโอกาสด้านการศึกษา หากต้องหยุดเรียน เช่น ในอินเดียมีการปิดเรียน เพื่อหลีกเลี่ยงคลื่นความร้อนที่อาจกระทบต่อสุขภาพของเด็กนักเรียน เป็นต้น

ทั้งนี้ ด้วยรายได้ที่อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก และภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ครัวเรือนก็อาจต้องหันมาประหยัดค่าใช้จ่ายหมวดอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนให้มีความสมดุล

*มีความเสี่ยงที่อากาศจะร้อนขึ้นอีก ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

มองไปข้างหน้า ภาวะโลกร้อน น่าจะส่งผลให้อุณหภูมิโลกมีความแปรปรวน และมีโอกาสที่ฤดูร้อนจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ รายงานของศูนย์พยากรณ์สภาพอากาศ (Climate Prediction Center) แห่งองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) คาดการณ์ว่า ในช่วงปลายปี 2566 ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า อุณหภูมิเฉลี่ยในประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิกอาจสูงขึ้นอีก จากการพลิกกลับสู่ช่วงของปรากฏการณ์เอลนีโญ และภาวะสภาพอากาศสุดขั้วนี้ก็อาจจะยาวนานต่อเนื่องมากกว่าในอดีต ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูร้อนของไทยอาจมีแนวโน้มที่จะร้อนขึ้นอีกในช่วงปีหน้าและปีถัดๆ ไป

ประกอบกับธุรกิจก็มีแนวโน้มปรับมาให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนส่วนเพิ่มของธุรกิจนอกเหนือจากต้นทุนการผลิตที่ยืนสูงอยู่แล้ว ทำให้ราคาสินค้าและบริการต่างๆ อาจไม่สามารถปรับลดลงได้ง่าย ซึ่งก็จะส่งผลกระทบมายังค่าใช้จ่ายของครัวเรือนให้อาจมีแนวโน้มสูงขึ้นตาม

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีในการดำเนินชีวิตไปสู่ความรักษ์โลกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ การหมั่นบำรุงรักษาและตรวจสอบประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ หรือหันไปใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น การทำให้เกิด Food Loss หรือเกิดของเสียจากการบริโภคอาหารน้อยที่สุด การหันมาบริโภค Healthy Food รวมถึงการดูแลใส่ใจสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งการปรับพฤติกรรมเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยลดโลกร้อน และนำไปสู่การลดหรือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาว

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อค่าครองชีพที่สูงทำให้ครัวเรือนยังคงต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ดังนั้น สำหรับภาคธุรกิจที่จะทำการตลาดสินค้าและบริการต่างๆ ผู้ประกอบการคงจำเป็นต้องพิจารณาเลือกจังหวะเวลาและจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการปรับประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มุ่งสู่ความยั่งยืนเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 66)

Tags: , , ,