น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 63-เม.ย. 64) รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.22 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1.28 แสนล้านบาท หรือ 9.5% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.82 หมื่นล้านบาท หรือ 6%
“การจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าประมาณการ เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นสำคัญ”
โฆษกกระทรวงการคลังระบุ
สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 7 เดือนแรก ของปีงบประมาณ 2564 ของ 3 กรมจัดเก็บรายได้ ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร รวมกันอยู่ที่ 1.26 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเอกสารงบประมาณ 1.05 แสนล้านบาท หรือ 7.7% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.56 หมื่นล้านบาท หรือ 2%
โดยกรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 8.75 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเอกสารงบประมาณ 7.47 หมื่นล้านบาท หรือ 7.9% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.24 หมื่นล้านบาท หรือ 2.5% ขณะที่กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้อยู่ที่ 3.31 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเอกสารงบประมาณ 2.95 หมื่นล้านบาท หรือ 8.2% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.06 พันล้านบาท หรือ 1.2% ขณะที่กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้ 7 เดือน อยู่ที่ 5.88 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเอกสารงบประมาณ 1.4 พันล้านบาท หรือ 2.3% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย ที่ 870 ล้านบาท หรือ 1.5%
ส่วนรัฐวิสาหกิจ จัดเก็บรายได้รวม อยู่ที่ 7.69 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเอกสารงบประมาณ 3.19 หมื่นล้านบาท หรือ 29.3% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.79 หมื่นล้านบาท หรือ 46.9% และหน่วยงานอื่น ๆ จัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 1.01 แสนล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.98 หมื่นล้านบาท หรือ 16.4% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.72 หมื่นล้านบาท หรือ 14.5%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 64)
Tags: กรมศุลกากร, กรมสรรพสามิต, กรมสรรพากร, กระทรวงการคลัง, การจัดเก็บรายได้, กุลยา ตันติเตมิท, รัฐวิสาหกิจ, สศค., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, เศรษฐกิจไทย