สมาคมสายการบินประเทศไทยเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งการพิจารณาความช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ปลอดการค้ำประกันให้กับธุรกิจสายการบินในประเทศทั้ง 7 สายการบิน หลังจากได้ปรับลดคำขอวงเงินอีกครั้งมาที่ 5 พันล้านบาท จากที่เคยปรับลดมาเหลือ 1.5 หมื่นล้านบาทเมื่อต้นปี 64 ซึ่งลดลงจากครั้งแรกที่ยื่นขอไป 2.4 หมื่นล้านบาทเมื่อเดือน มี.ค.63 ทั้งนี้ เพื่อใช้ในการรักษาการจ้างงานพนักงานสายการบินรวมเกือบ 2 หมื่นคน
ทั้งนี้ จากมาตรการรัฐบาลล่าสุดในการจำกัดการเดินทาง ส่งผลต่อการระงับการให้บริการชั่วคราว ในทุกเส้นทางบินเข้าออกพื้นที่สีแดงเข้ม ตั้งแต่ 21 ก.ค.64 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ปัจจุบัน 7 สายการบินมีเครื่องบินที่ต้องจอดนิ่งรวมกว่า 170 ลำ และมีค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานรวมกว่า 900 ล้านบาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนด้านการปฏิบัติการบินและการบำรุงรักษาเครื่องบินอีกจำนวนมหาศาล ซึ่งทางสมาคมฯ ประเมินว่าอาจจะแบกรับภาระไม่ไหวหากไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐโดยเร่งด่วน และอาจส่งผลต่อการกลับมาให้บริการในอนาคต
ดังนั้น 7 สายการบินจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพิจารณามาตรการความช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) อย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยประคองธุรกิจสายการบินและการจ้างงานพนักงาน รวมทั้งเพื่อช่วยลดผลกระทบความเสียหายต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและท่องเที่ยวภาพรวม เนื่องจากสายการบินคือธุรกิจด่านหน้าสำคัญ ที่เชื่อมต่อให้เกิดการกระจายและสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ
“ตลอดกว่าหนึ่งปีครึ่งนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายการบินทั้ง 7 สาย ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือตัวเองและปรับตัวเพื่อประคองธุรกิจให้รอดจากสถานการณ์อันยากลำบากครั้งนี้ เรายังมีความหวังว่ารัฐบาลจะช่วยเร่งดำเนินการอนุมัติซอฟท์โลนโดยเร็วที่สุด เพราะนี่คือลมหายใจเฮือกสุดท้ายของสายการบินแล้ว”
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 64)
Tags: Soft Loan, ซอฟท์โลน, พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ, สมาคมสายการบินประเทศไทย, สายการบิน, สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ