น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) เฉลี่ยอยู่ที่ 157.75 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.0% โดยการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 5.6% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 84.9% และการใช้ NGV เพิ่มขึ้น 4.7% ขณะที่ น้ำมันกลุ่มดีเซล น้ำมันเตาและ LPG ลดลง 3.0% 2.1% และ 3.0% ตามลำดับ
การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเดือน ม.ค.-พ.ค.66 เป็นดังนี้
– กลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.91 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.6%
โดยการใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.98 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี20 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.90 ล้านลิตร/วัน ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ อี85 และเบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 6.89 ล้านลิตร/วัน 0.22 ล้านลิตร/วัน และ 0.48 ล้านลิตร/วัน
– กลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 73.53 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3%
โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 65.97 ล้านลิตร/วัน ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 และน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 1 ล้านลิตร/วัน 0.16 ล้านลิตร/วัน และ 6.40 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ
ทั้งนี้ ภาครัฐยังคงมาตรการช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซล โดยใช้มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลต่อไปจนถึงวันที่ 20 ก.ค.66 และการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ ภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลโลกมีความผันผวนจากความกังวลทางเศรษฐกิจ และวิกฤตด้านการเงินจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
– LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.36 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.0% โดยภาคปิโตรเคมี การใช้ลดลงมาอยู่ที่ 7.34 ล้าน กก./วัน ภาคครัวเรือน ลดลงมาอยู่ที่ 5.73 ล้าน กก./วัน และภาคอุตสาหกรรม ลดลงมาอยู่ที่ 2.03 ล้าน กก./วัน ขณะที่การใช้ในภาคขนส่งอยู่ที่ 2.26 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้น 10.0%
– NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.49 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.7% เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการตามปกติ ประกอบกับมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาพลังงาน ช่วยเหลือประชาชน โดยการคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.-15 มิ.ย.66
– น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 13.64 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 84.9% เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลับมาเดินทางทางอากาศยานเพิ่มมากขึ้น ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
ส่วนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) เฉลี่ยอยู่ที่ 1,079,851 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.9% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 97,292 ล้านบาท/เดือน แยกเป็น
– การนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 1,003,021 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 7.0% คิดเป็นมูลค่า 91,395 ล้านบาท/เดือน
– การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 76,830 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 21.1% คิดเป็นมูลค่า 5,897 ล้านบาท/เดือน
ขณะที่การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกอยู่ที่ 153,157 บาร์เรล/วัน ลดลง 10.1% คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 15,084 ล้านบาท/เดือน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 66)
Tags: นันธิกา ทังสุพานิช, น้ำมันดิบ, พลังงาน