นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของ กทม. ตลอด 1 ปี หรือ “365 วัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ผ่าน “9 ด้าน 9 ดี” ว่า กทม. เริ่มดำเนินการไปแล้ว 211 นโยบาย จากทั้งหมด 226 นโยบาย โดยมี 11 นโยบายที่ยังไม่ได้ดำเนินการ และอีก 4 นโยบายที่ยุติการดำเนินการ ดังนี้
1. เดินทางดี :
– เดินได้ เดินดี โดยปรับปรุงทางเท้าไปแล้ว 221.47 กิโลเมตร และคืนทางเท้าให้ประชาชน 140 จุด
– เพิ่มความคล่องตัวการเดินทาง โดยการคืนผิวจราจร และเทศกิจช่วยดูแลจราจร 890 จุดทุกวัน
– ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง โดยติดตั้งจุดจอดจักรยาน 100 จุด
– ป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยการลอกท่อ 7,115.4 กิโลเมตร และลอกคลอง เปิดทางน้ำไหล รวม 2,948 กิโลเมตร
“สถานการณ์น้ำท่วมน่าจะดีขึ้น เพราะกทม. มีการปรับปรุงแต่ละจุด และแก้ไปได้เกินครึ่งแล้ว มีระบบเส้นเลือดใหญ่ เส้นเลือดฝอยต่อเนื่อง ทำอุโมงค์เพิ่ม หลายคนบอกช่วงฝนตกที่ผ่านมาน้ำลงเร็วขึ้น เชื่อว่าระบบใหญ่ค่อนข้างดีแล้ว มีสิ่งที่อาจคาดการณ์ยากนิดนึงคือผลกระทบจากภาวะโลกร้อน (Climate Change) ทำให้ฝนตกบางจุดมากกว่าปกติ แต่เทคโนโลยีจะช่วยทำให้กทม. ทำงานได้เร็วขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว
2. ปลอดภัยดี :
– แก้ไขจุดเสี่ยงภัยและอาชญากรรม อาทิ ปรับปรุงทางม้าลาย, แก้ปัญหาไฟฟ้าดับ 28,000 ดวง, ติดตั้งกล้องป้องกันภัยด้านอาชญากรรมเพิ่ม 160 กล้อง และสามารถขอภาพจากกล้องวงจรปิดได้ภายใน 24 ชั่วโมง
– เพิ่มทรัพยากร ทักษะ และข้อมูลความปลอดภัยชุมชน/ สร้างระบบเครือข่ายในพื้นที่จัดการสาธารณภัย โดยพัฒนาแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับเขตแล้วเสร็จ 25 สำนักงานเขต
3. โปร่งใสดี :
– รายงานปัญหาโดยประชาชน แก้ปัญหาโดย กทม. ผ่านแพลตฟอร์ม Traffy Fondue โดยสามารถแก้ปัญหาฟองดูว์ได้แล้ว 200,000 แสนเรื่อง จากทั้งหมด 300,000 เรื่อง และเปิดเผยชุดข้อมูล 720 ชุด ตามความต้องการของประชาชน
– เผยแพร่ข้อมูล เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ขออนุญาตบริการออนไลน์ (Open Bangkok)
– ยกระดับความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเปิดศูนย์ต่อต้านทุจริต กทม. และเพิ่มช่องทางรับเรื่อง
“ที่ผ่านมา การดำเนินการเรื่องทุจริตคอร์รัปชันยากที่สุด เพราะคือสารตั้งต้น ถ้าไม่มีความโปร่งใส ประชาชนก็จะไม่ไว้ใจ ต้องเริ่มจากฝ่ายบริหาร การแต่งตั้งที่เป็นธรรม ที่ผ่านมาประชาชนแจ้งเรื่องนี้เยอะมาก ถ้ากทม. ทำตรงนี้ให้โปร่งใสได้ ก็จะมีงบไปทำเรื่องอื่น บอกทีมงานเสมอว่าที่แจ้ง Traffy Fondue เข้ามา 3 แสนเรื่อง ไม่ได้แสดงว่าเราอ่อนแอ แสดงว่าประชาชนไว้ใจเรา เราแก้ปัญหาให้เขาได้” นายชัชชาติ กล่าว
4. สิ่งแวดล้อมดี :
– เพิ่มพื้นที่สีเขียว ต้นไม้ โดยกทม. สามารถปลูกต้นไม้แล้ว 400,000 ต้น และสวน 15 นาที เพิ่ม 28 แห่ง
– จัดการขยะ อากาศ น้ำเสีย โดยตรวจฝุ่น 9,291 สถานประกอบการ, ตรวจควันดำ 131,537 คัน, ประชาชนและผู้ประกอบการร่วมโครงการแยกขยะมากกว่า 6,400 ราย ขยะลดลง 300-700 ตัน/วัน
5. สุขภาพดี :
– สนับสนุนและพัฒนากิจกรรมส่งเสริมสุขภาพชุมชนทุกกลุ่ม อาทิ 22 คลินิกเพศหลากหลาย
– ยกระดับสุขภาพปฐมภูมิ และเครือข่ายสาธารณสุข/ เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เชื่อมโยงไร้รอยต่อ/ พัฒนานวัตกรรมการรักษาพยาบาล อาทิ ลดระยะเวลาในการสรุปข้อมูลการส่งตัวผู้ป่วยจาก 1 วัน เป็น 1 ชั่วโมง
6. เรียนดี :
– ส่งเสริมการเรียนรู้ เด็กเล็กก่อนวัยเรียน (2-6 ปี) อาทิ ปรับค่าอาหารกลางวันและอาหารเสริม เป็น 32 บาท/คน และให้ค่าวัสดุอุปกรณ์เพิ่มเป็น 600 บาท/คน
– พัฒนาสวัสดิการครูและนักเรียน อาทิ อุดหนุนค่าอาหาร ค่าชุด 1,171 ล้านบาท, แจกผ้าอนามัย 380,772 ชิ้น และหมวกกันน็อก 120,000 ใบ
– Transform หลักสูตร และห้องเรียนดิจิทัล อาทิ ติดตั้งคอมพิวเตอร์ 21,553 เครื่อง และเพิ่มวิชาชีพเลือกเสรี 109 โรงเรียน
7. เศรษฐกิจดี :
– เพิ่มโอกาสตลาดแรงงาน ฝึกอาชีพคนเมือง อาทิ สร้างการจ้างงานคนพิการรวม 489 ตำแหน่ง
– เพิ่มพื้นที่ Hawker Center ตลาดค้าขาย
– ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Soft Power) และเศรษฐกิจย่าน อาทิ 12 เดือน 12 เทศกาล
8. สังคมดี :
– เปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ ดนตรีในสวน 13 สวน 156 วงดนตรี
– สนับสนุนเงื่อนไขการดำรงชีพคนไร้บ้าน คนพิการ และกลุ่มเปราะบาง อาทิ ปรับปรุง 62 อาคาร ให้ Universal Design ทุกคนเข้าถึงได้ และเปิดจุดบริการคนไร้บ้าน คนไร้บ้านลดลง 490 คน จากปี 65
– สร้างชุมชนเข้มแข็งร่วมพัฒนา โดยการจัดตั้งอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) 525 ชุมชน
9. บริหารจัดการดี :
– ระบบงาน เงิน คน ระเบียบที่มีประสิทธิภาพ อาทิ จัดสรรงบปี 66 กว่า 5,024 ล้านบาท ลงเส้นเลือดฝอย, จัดสรรงบ 200,000 บาท/ชุมชน, ที่ดินในกทม. 99.42% ถูกประเมินเพื่อจัดเก็บภาษี และจัดทำงบแบบ Zero Base Budgeting กว่า 1,000 ล้านบาท
– ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการร่วมบริหารจัดการเมือง เช่น ตั้งสภาเมืองคนรุ่นใหม่ และประชาชนมีส่วนร่วมในการประเมินผู้อำนวยการเขต และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อผู้ว่าฯ กทม. (เม.ย-พ.ค. 66) อยู่ที่ 72.40%
นอกจากนี้ กทม. ได้สานต่อโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ ปรับปรุง รพ.กลาง, ก่อสร้าง รพ.บางนา, โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา, โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร จากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา, โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด, โครงการก่อสร้างทางยกระดับ ถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง, โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแยกเกียกกาย ช่วงที่ 2, โครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 และหัวหมาก, รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย บางหว้า-ตลิ่งชัน, รถไฟฟ้าสายสีเงิน และรถไฟฟ้าสายสีเทา
ขณะเดียวกัน กทม. ได้ผลักดันโครงการขนาดใหญ่ (เริ่มใหม่) ได้แก่ โครงการบำบัดน้ำเสียคลองเตย, โครงการต่อเชื่อมพุทธมณฑลสาย 3 กับ 4, โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างถนนรัตนโกสินทร์สมโภช ถนนนิมิตใหม่, กำจัดขยะมูลฝอยโดยระบบเตาเผาขยะ 1,000 ตันต่อวัน และก่อสร้างอาคาร รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์
ส่วนการชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว จะส่งผลต่องบประมาณของ กทม. หรือไม่นั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องมองไปในอนาคต เพราะหลังปี 2572 จะมีกระแสเงินสด (Cash Flow) เข้ามาในส่วนของรายได้ ขณะเดียวกัน ในกรณีที่กทม. ต้องจ่าย รัฐบาลก็อาจจะทยอยจ่าย แต่ดีที่สุดคือรัฐบาลช่วยจ่ายให้ ดังนั้น ถ้ากทม. เป็นหนี้จริงก็ต้องมีผลกระทบ ซึ่งก็ต้องมีความรอบคอบมากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มิ.ย. 66)
Tags: กทม., กรุงเทพมหานคร, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์