สส.เพื่อไทย 122 คน ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การทำประชามติสอบถามประชาชน และการดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังจัดทำรายงานสรุปเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่าที่รับทราบได้มีข้อสรุปว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเสนอให้มีการจัดทำประชามติ 3 ครั้ง
ครั้งแรกเป็นการถามประชาชนก่อน โดยยังไม่มีการเสนอร่างแก้ไขต่อรัฐสภาว่าสมควรจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
ครั้งที่ 2 เมื่อมีร่างแก้ไขมาตรา 256 เสนอต่อรัฐสภา และร่างได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว
ครั้งที่ 3 เมื่อ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว
สรุปคือทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งใช้เวลาและงบประมาณมากพอสมควร เท่าที่ทราบคือ 3,000-4,000 กว่าล้านบาท
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ควรจะทำประชามติถามประชาชนเพียง 2 ครั้ง ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาและภาระงบประมาณได้ อย่างไรก็ตามคำตอบอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาดและตอบว่าควรถามสักกี่ครั้งและควรจะทำอย่างไร
นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยเห็นว่าสามารถถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยไปพร้อมกับการแก้ไขมาตรา 256 ได้ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าทำประชามติเพียง 2 ครั้งก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
อย่างไรก็ตามอำนาจหน้าที่และแนวปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ตอบคำถามหรืออธิบายรัฐธรรมนูญ แต่จะวินิจฉัยได้ต้องมีคำร้องสู่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องอ้างปัญหาความขัดแย้งหรือความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องอำนาจหน้าที่ ซึ่งประเด็นปัญหาในเรื่องนี้ คือ การที่ต้องถามประชามติของประชาชนก่อนว่า เห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่นั้น สามารถกระทำได้โดยเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ไปก่อน และเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 แล้ว จึงถามประชามติประชาชนไปพร้อมกับการถามประชามติร่างแก้ไข มาตรา 256 ได้หรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องสอบถามประชาชนก่อนโดยที่ยังไม่ได้เสนอญัตติใดๆ ต่อรัฐสภาเลย
โดยเหตุดังกล่าว พรรคเพื่อไทยโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดจึงเห็นควรให้เสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานรัฐสภา และหากยึดแนวทางที่ผ่านมา หากประธานรัฐสภาไม่บรรจุญัตติดังกล่าวตามข้อเสนอของสำนักกฎหมายประธานรัฐสภา โดยอ้างว่ามิใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แต่เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องถามประชาชนเสียก่อน โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ขณะที่สมาชิกรัฐสภาเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา กรณีก็จะเกิดประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และหากเป็นเช่นนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยมีสิทธิที่จะเสนอ ประเด็นความเห็นดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัย อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา โดยขอให้ประธานรัฐสภาส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ และจะนำไปสู่คำตอบว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีความตั้งใจและเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเข้าใจดีถึงความสลับซับซ้อน ความเห็นที่แตกต่างกันใน ข้อกฎหมาย เจตนาที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้เป็นไปที่จะหาข้อ ยุติว่าควรทำประชามติกี่ครั้ง หากสามารถหาคำตอบได้ว่าทำประชามติเพียง 2 ครั้ง กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีความกระชับ และไม่สิ้นเปลือง งบประมาณแผ่นดินเกินความจำเป็น โดยมิได้มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาเกิดจากคำวินิจฉัยที่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว จึงต้องทำให้เกิดความชัดเจนเท่านั้น หากในที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยใน เรื่องนี้ก็จะถือว่าปัญหาการทำประชามติก็จะจบลงและทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม
นอกจากนี้ คณะทำงานของพรรคเพื่อไทยมีมติว่าจะขอแก้ไขกฎหมายประชามติด้วย ขณะนี้ยกร่างเสร็จแล้ว โดยมี 3 ประเด็น คือ
1.แก้กฎหมายประชามติให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดา แต่มีเงื่อนไขว่าเสียงข้างมากนั้นต้องไม่ต่ำกว่าเสียงประสงค์ไม่ลงคะแนน
2.เสนอว่าประชามติอาจทำไปพร้อมๆ กันกับการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ
3.เสนอว่าประชามติส่วนใหญ่ในอดีตคือการไปลงคะแนนใช้บัตรกาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เราคิดว่าต่อไปให้นำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาใช้ เช่น อาจใช้วิธีการทางไปรษณีย์ได้ ซึ่งได้ร่างกฎหมายเสร็จแล้วและกำลังนำเสนอหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อร่วมกันลงชื่อเสนอญัตตินำเสนอต่อสภา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 67)
Tags: การเมือง, ครม., ชูศักดิ์ ศิรินิล, รัฐบาล, วันมูหะมัดนอร์ มะทา, ศาลรัฐธรรมนูญ