นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยว่า จากข้อมูลการจัดสรรตารางบินฤดูหนาว 2024/2025 (ต.ค. 67- มี.ค.68) ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT มีเที่ยวบินได้รับการจัดสรรเวลารวม 370,239 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากฤดูหนาวในปีที่ผ่านมา (ต.ค.66-มี.ค.67 ) 22.1% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 222,780 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 33.1% เที่ยวบินภายในประเทศ 147,459 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 8.5%
ทั้งนี้ มีแนวโน้มจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งระหว่างประเทศและในประเทศเพิ่มขึ้น 23% และเส้นทางระหว่างประเทศที่มีผู้โดยสารเดินทางเข้าประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ และ ฮ่องกง
นายกีรติกล่าวว่า ในช่วงไฮซีซั่น ที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้นนั้น เมื่อมีการใช้ระบบ Biometric และ ตรวจคนเข้าเมืองอัตโนมัติ หรือ Auto Gate ทำให้ลดแถวคอยผู้โดยสารของผู้โดยสารต่างชาติจากเดิม 30นาที ลดเหลือไม่เกิน3นาที และทำให้กระบวนการตังแต่ลงเครื่องบินจนถึงรับกระเป๋า จากเดิมนานสุด 50 นาทีเหลือนานสุไม่เกิน30 นาที เพราะเมื่อลดแถวคอยที่ ตม. ก็จะทำให้กระบวนการเร็วขึ้น จะเหลือเพียงคอขวดตรงจุดรับกระเป๋าเท่านั้น ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมหาผู้ให้บริการรายที่3
ทั้งนี้ ปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ในปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 – กันยายน 2568) AOT คาดว่าจะผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 129.97 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 78.61 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.17% และผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 51.36 คน เพิ่มขึ้น 10.18% ขณะที่คาดว่าจะมีเที่ยวบินรวมประมาณ 808,280 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 10.32% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศประมาณ 453,750 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9.02% และเที่ยวบินภายในประเทศประมาณ 354,530 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12.02%
โดยเฉพาะที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 64.44 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.40% และมีเที่ยวบินประมาณ 376,820 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 8.69% ส่วน ทดม.มีผู้โดยสารประมาณ 33.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.91% และมีเที่ยวบินประมาณ 223,200 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 13.00%
*งวดปี 67 ผู้โดยสาร 120 ล้านคนโต 20%
ในส่วนของปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 119.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 72.67 ล้านคน เพิ่มขึ้น 34.82% โดยเป็นผู้โดยสารต่างชาติถึง 40 ล้านคน สะท้อนว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการเดินทางได้ตามเป้าหมาย และผู้โดยสารภายในประเทศ 46.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.01% ขณะที่มีเที่ยวบินรวม 732,690 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 14.5% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 416,190 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 29.63% และเที่ยวบินภายในประเทศ 316,500 เที่ยวบิน ลดลง 0.73%
โดยเฉพาะที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสาร 60 ล้านคน เพิ่มขึ้น 24.04% และมีเที่ยวบิน 346,680 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 17.88% ส่วน สนามบินดอนเมืองมีผู้โดยสาร 29.15 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.25% และมีเที่ยวบิน 197,250 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 11.47%
ด้านท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีผู้โดยสาร 8.82 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.14% และมีเที่ยวบิน 57,780 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9.68% สำหรับ ท่าอากาศยานเชียงรายมีผู้โดยสาร 1.9 ล้านคน ลดลง 1.96% และมีเที่ยวบิน 12,260 เที่ยวบิน ลดลง 3.37% ขณะที่ท่าอาศยานภูเก็ตมีผู้โดยสาร 16.40 ล้านคน เพิ่มขึ้น 25.94% และมีเที่ยวบิน 98,710 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 19.97% และ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ มีผู้โดยสาร 3.03 ล้านคน ลดลง 5.14% และมีเที่ยวบิน 19,730 เที่ยวบิน ลดลง 5.84% ทั้งนี้ มีผู้โดยสารแยกตามสัญชาติ 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ รัสเซีย และญี่ปุ่น
*ล้ำสุดเริ่มใช้ระบบ Biometric 1 พ.ย.ในปท.- 1 ธ.ค.ตปท.
นายกีรติ กล่าวว่า AOT ได้นำระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated BiometricIdentification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition มาใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร โดยได้พัฒนาและทดสอบระบบฯ ให้มีความพร้อมใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว รวมทั้งจะช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวของแต่ละจุดบริการภายในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.)
โดยในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ผู้โดยสารภายในประเทศสามารถใช้งานได้ก่อน และในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 พร้อมใช้งานสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ผู้โดยสารจำเป็นต้องยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล โดยในช่วงแรก จะเก็บข้อมูลผู้โดยสารที่ลงทะเบียนไว้ 24 ชั่วโมง จากนั้นจะทำลายข้อมูล ส่วนระยะยาวจะพัฒนาระบบเพื่อจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลไว้นานๆ มีความปลอดภัยและผ่านขั้นตอน PDPA ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ก่อน คาดว่าจะใช้ได้ใน2 ปี
โดยมีการติดตั้งเครื่องตรวจเพื่อรองรับการใช้งานระบบ Biometric 3 จุด คือ 1.จุดเช็กอิน Kiosk (ตู้คีออส)ที่สนามบินสุวรรณภูมิ 200 เครื่อง ที่สนามบินดอนเมือง จำนวน 50 เครื่อง 2.จุดเช็คบัตรโดยสาร ระบบ Biometric จำนวน 10 เครื่อง และยังมีระบบ Manual 5 ช่องและ 3. จุดตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง มี 2 ช่อง และ Manual 1 ช่อง โดยจะคงรูปแบบ การให้บริการแบบ Manual ควบคู่ไปด้วยในช่วงเปลี่ยนผ่านประมาณ 6 เดือน
สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการใช้งานระบบ Biometric สามารถลงทะเบียนใช้งานเมื่อมาเช็กอินที่สนามบินโดยมี 2 วิธี ได้แก่ (1)เช็กอินที่เคาน์เตอร์เช็กอินผู้โดยสารแจ้งเจ้าหน้าที่สายการบินให้ลงทะเบียนใบหน้าในระบบBiometric ผ่านเครื่องตรวจบัตรโดยสาร (เครื่อง CUTE) โดยระบบฯ จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลใบหน้าและข้อมูลเอกสารการเดินทางของผู้โดยสารในรูปแบบของ Token ไว้ในระบบฯ (2)เช็กอินที่เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ(เครื่อง CUSS) โดยหลังจากเช็กอินเสร็จแล้ว ให้ผู้โดยสารเลือกสายการบินที่เดินทางต่อด้วยเลือก “Enrollment”จากนั้นสแกน barcode จากบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) เสียบหนังสือเดินทาง (Passport) หรือบัตรประชาชน และสแกนใบหน้าเป็นขั้นตอนสุดท้าย ถือเป็นการเสร็จสิ้นการลงทะเบียน ซึ่งระบบฯ จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลใบหน้าและข้อมูลเอกสารการเดินทางของผู้โดยสารในรูปแบบของ Token ไว้ในระบบฯ เช่นเดียวกัน
ซึ่งเมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วถือว่าผู้โดยสารได้ให้ความยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลแล้ว ดังนั้น เมื่อผู้โดยสารจะโหลดกระเป๋าสัมภาระผ่านเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (เครื่อง CUBD) ตลอดจนผ่านจุดตรวจค้น รวมทั้งขั้นตอนขึ้นเครื่อง ไม่ต้องแสดง Passport และ Boarding Pass อีกต่อไป ทั้งนี้ เป็นการยินยอมให้ใช้ข้อมูล Biometricสำหรับการเดินทางเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
นายกีรติ กล่าวว่า AOT มั่นใจว่าระบบ Biometric มีความพร้อมอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารทั้งผู้โดยสารภายในประเทศและระหว่างประเทศจะได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว ใช้เวลาน้อยในแต่ละจุดบริการ ทำให้ผู้โดยสารมีเวลาเพียงพอที่จะเดินเล่น เลือกซื้อสินค้าปลอดอากรและของฝาก รับประทานอาหาร หรือพักผ่อนหย่อนใจ เนื่องจากที่ผ่านมา AOT ได้มีการติดตั้งระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง หรือ CUPPS (Common UsePassenger Processing System) ที่สนับสนุนการให้บริการทั้งหมด 5 ระบบ ได้แก่
(1) เครื่อง CUTE (เครื่องตรวจบัตรโดยสาร ซึ่งใช้งานโดยเจ้าหน้าที่สายการบิน) (2) เครื่อง CUSS (เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ) (3) เครื่อง CUBDเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (4) ระบบ PVS (Passenger Validation System) สำหรับตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร (5) ระบบ SBG (Self-Boarding Gate) หรือระบบประตูทางออกขึ้นเครื่อง โดยทั้ง 5 ระบบดังกล่าว
ได้ติดตั้งเพื่อรองรับระบบ Biometric ไว้เรียบร้อยแล้วและเมื่อระบบทั้งหมด 6 ระบบได้มีการใช้งานและเชื่อมต่อกันอย่างครอบคลุม จะทำให้ข้อมูลต่างๆ ถูกเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายอย่างสมบูรณ์
“การลงทุนระบบ Biometric AOT ใช้รายได้จากค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charges: PSC) หรือค่าธรรมเนียมสนามบิน ทั้ง 6 แห่ง ผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ 730 บาทต่อคนและภายในประเทศ 130 บาทต่อคน มาดำเนินการ ซึ่งมีรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี”นายกีรติ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ต.ค. 67)
Tags: AOT, กีรติ กิจมานะวัฒน์, ท่าอากาศยานไทย, หุ้นไทย