บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และ ไบออนเทค ประกาศลงนามสัญญาร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดส่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 20 ล้านโดสสำหรับปี 64 ให้กับประเทศไทย โดยมีแผนกำหนดการส่งมอบในไตรมาส 4 ของปีนี้
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเกี่ยวกับมูลค่าการซื้อขายไม่อาจเปิดเผยได้ แต่มีข้อกำหนดเป็นไปตามช่วงเวลาในการส่งมอบและจำนวนโดสที่สั่ง
“สัญญานี้เป็นการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไฟเซอร์ในการจัดหาวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 นี้และยังเป็นการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของคนทั่วโลก”
นางสาวเด็บบราห์ ไซเฟิร์ท ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทยและอินโดไชน่ากล่าว
ไฟเซอร์ ระบุอีกว่า ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตสุขภาพโลกในครั้งนี้ ไฟเซอร์ได้ดำเนินพันธกิจตามเป้าประสงค์ขององค์กรในการนำยานวัตกรรมที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้ป่วยซึ่งในการดำเนินการนั้นเป็นไปอย่างเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น
“ขอขอบคุณรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยสำหรับความไว้วางใจในความสามารถของการพัฒนาวัคซีนที่พวกเราเชื่อว่ามีศักยภาพที่จะช่วยในการรับมือกับโรคระบาดของโลกในครั้งนี้ เป้าหมายของเราก็ยังคงเป็นการส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพให้แก่ผู้คนมากมายทั่วโลกโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”
นายชอง มาเร็ท หัวหน้าฝ่ายธุรกิจและฝ่ายพาณิชย์ บริษัท ไบออนเทค กล่าว
ทั้งนี้ ไฟเซอร์และไบออนเทคตั้งเป้าการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ได้ราว 3 พันล้านโดสทั่วโลกภายในปี 64 โดยได้ทำการปรับปรุงพัฒนากระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ในการผลิตอย่างต่อเนื่องและขยายกำลังการผลิตที่มีอยู่ขณะนี้ รวมถึงการเพิ่มผู้ผลิตและคู่สัญญารายใหม่ในอนาคต
วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทคได้รับการพัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์และไบออนเทคโดยเป็นเทคโนโลยี mRNA ที่ไบออนเทคเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และเป็นผู้ได้รับอนุญาตทางการตลาดในสหภาพยุโรปและยังเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินหรือเทียบเท่าในประเทศสหรัฐอเมริกา (ร่วมกับไฟเซอร์) ประเทศแคนาดาและประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ เป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ก่อนหน้าในการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสำหรับการเป็นผู้รับอนุญาตทางการตลาดเต็มรูปแบบในประเทศเหล่านั้น
สำหรับข้อมูลด้านการศึกษาทางคลินิก การทำการทดลองทางคลินิก เฟสที่ 3 ของ BNT162b2 ซึ่งเป็นเทคโนโลยี mRNA ที่ไบออนเทคเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เริ่มต้นขึ้นในปลายเดือน ก.ค.63 และเสร็จสิ้นการเก็บข้อมูลประสิทธิภาพเบื้องต้นในเดือน ม.ค.64 โดยมีอาสาสมัครจำนวน 46,331 คนเข้าร่วมการทดลองทางคลินิกที่มีความหลากหลายจากศูนย์ทดลอง 153 แห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ตุรกี แอฟริกาใต้ บราซิล และ อาร์เจนติน่า โดยผู้เข้าร่วมการทดลองทุกคนจะได้รับการเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อประเมินความยาวนานของการป้องกันและความปลอดภัยเป็นเวลาต่อไปสองปีหลังจากที่ได้รับวัคซีนเข็มที่สอง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ค. 64)
Tags: Pfizer, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, ชอง มาเร็ท, วัคซีน mRNA, วัคซีนต้านโควิด-19, เด็บบราห์ ไซเฟิร์ท, ไบออนเทค, ไฟเซอร์