นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าการพิจารณาจัดทำกฎหมายลูกจะเสร็จสิ้นหลังเดือน ก.ค.65 โดยตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะกระทบกับกฎหมายลูก เพราะเป็นช่วงที่อาจมีผู้ยื่นตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีนั้นว่า คาดว่าการพิจารณากฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับจะเสร็จประมาณเดือน ก.ย.-ต.ค.65 และเชื่อว่าปมวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีจะไม่กระทบกับกฎหมายลูก
“หากจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะต้องยื่นหลังวันที่ 24 ส.ค. และคิดว่าผู้ที่จะยื่นคือ ส.ส.ฝ่ายค้าน เมื่อยื่นแล้วคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้กระบวนการพิจารณาไม่น้อยกว่า 4-5 เดือน หรือหลังเดือน ม.ค.66 จึงจะมีคำวินิจฉัยออกมา เมื่อได้ดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากบทบัญญัตินี้อยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ซึ่งใช้บังคับที่มาของนายกฯ ในมาตราเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาอยู่แล้วไม่ว่าจะอย่างไร” นายไพบูลย์ กล่าว
ด้านนพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ (พธม.) ในฐานะกมธ. กล่าวถึงกรณี กมธ.ฯ เสียงส่วนใหญ่ลงมติใช้สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์หารด้วย 100 ว่า เมื่ออยู่ใน กมธ.ก็ต้องยอมรับว่ามติเสียงข้างมาก ส่วนแนวทางหลังจากนี้ ยังต้องสู้กันด้วยเหตุและผลในวาระ 2 และ 3 กันอีกครั้ง ซึ่งเมื่อจบในวาระ 3 ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะก็ตาม ตามระเบียบรัฐสภาจะต้องยื่นไปให้องค์กรอิสระไม่ว่าจะศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือศาลฎีกาดูทั้ง 2 ฉบับ และต้องจบที่ว่าองค์กรอิสระตีความกลับมาอย่างไร หากตีความกลับมาว่าต้องแก้รัฐสภาก็อาจจะต้องแก้ไข แต่หากตีกลับมาว่าไม่มีอะไรที่ต้องแก้ไขก็ถือว่าจบและสามารถนำขึ้นโปรดเกล้าฯได้ ฉะนั้นสิทธินี้ยังไม่จบ จะจบก็ในวาระ 3
ส่วนแนวคิดในการยุบพรรคหรือควบรวมพรรคนั้น นพ.ระวี กล่าวว่า หากวิธีหาร 500 เกิดพลิกกลับมาชนะ พรรคเล็กทั้งในและนอกสภาก็มีโอกาสควบรวมพรรคน้อย เพราะทุกพรรคก็อาจจะสู้ได้ แต่หากหาร 100 ชนะ พรรคเล็กก็อาจจะดำเนินการไป 2-3 รูปแบบ คือ 1.บางพรรคอาจจะถอยเลย 2.บางพรรคอาจจะมีการควบรวมกันหรือไปรวมกับพรรคใหญ่ 3.บางพรรคอาจจะยืนหยัดสู้ต่อไป ซึ่งขอย้ำว่าพรรคพลังธรรมใหม่ จะสู้ต่ออย่างเต็มรูปแบบ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 พ.ค. 65)
Tags: การเมือง, รัฐธรรมนูญ, เลือกตั้ง, ไพบูลย์ นิติตะวัน