ไป่ตู้ (Baidu) บริษัทเทคโนโลยีจีนเปิดตัวแอปพลิเคชัน AI ใหม่ในวันนี้ (12 พ.ย.) ประกอบด้วยเครื่องมือสร้างภาพจากข้อความ และเครื่องมือพัฒนาซอฟต์แวร์แบบไม่ต้องเขียนโค้ด
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ไป่ตู้ ผู้นำด้านเสิร์ชเอนจินของจีน กำลังปรับทิศทางธุรกิจไปสู่การพัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้เทคโนโลยีโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model – LLM) เพื่อสร้างรายได้ในเชิงพาณิชย์ หลังทุ่มงบวิจัยและพัฒนาโมเดลที่หวังจะเป็นคู่แข่งจีพีที (GPT) ของโอเพนเอไอ (OpenAI) มาเกือบ 2 ปี
ในงานไป่ตู้ เวิลด์ คอนเฟอเรนซ์ (Baidu World Conference) ประจำปี โรบิน หลี่ ซีอีโอของไป่ตู้ได้เปิดตัว I-RAG เทคโนโลยีสร้างภาพจากข้อความที่ใช้ความสามารถด้านการค้นหาของไป่ตู้เพื่อแก้ปัญหา “AI หลอน” (hallucination) หรือการสร้างภาพที่ไม่ตรงกับข้อความที่ป้อนเข้าไปหรือมีองค์ประกอบที่ไม่มีอยู่จริง
หลี่เปิดเผยว่าแพลตฟอร์มเออร์นี (Ernie) มีคำขอและการโต้ตอบจากผู้ใช้ 1.5 พันล้านครั้งต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านครั้งที่รายงานในเดือนพ.ค. การโต้ตอบดังกล่าวครอบคลุมการสร้างข้อความ ตอบคำถาม และสนับสนุนการทำงานของแอปพลิเคชันที่ใช้ AI
ทั้งนี้ ไป่ตู้มุ่งสร้างรายได้ผ่านระบบผู้ช่วย AI ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถพัฒนาแอปพลิเคชันได้เอง นอกจากนี้ บริษัทได้ผสานเทคโนโลยีนี้เข้ากับผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ และเปิดให้บริการผ่านระบบคลาวด์แก่ผู้ใช้ภายนอก
นอกจากนี้ ไป่ตู้ยังเปิดตัวแว่นตาอัจฉริยะรุ่นใหม่ที่มี AI ในตัว โดยแผนกฮาร์ดแวร์เสี่ยวตู้ (Xiaodu) พัฒนาขึ้น แว่นตารุ่นนี้มาพร้อมกล้องถ่ายภาพและวิดีโอ พร้อมรองรับการสั่งงานด้วยเสียงผ่านระบบเออร์นี
หลี่ระบุว่า บริษัทไม่มีแผนพัฒนา “ซูเปอร์แอป” ด้าน AI ซึ่งต่างจากกลยุทธ์ของบริษัทอื่น เช่น ไบต์แดนซ์ (ByteDance) ที่ทยอยเปิดตัวแอป AI แบบสแตนด์อโลนหลายตัวในปีนี้
นอกจากนี้ ไป่ตู้ยังเปิดตัว “เหมี่ยวตา” (Miaoda) เครื่องมือที่ใช้ LLM ในการสร้างโค้ด ช่วยให้ผู้ใช้สามารถพัฒนาแอปพลิเคชันได้แม้ไม่มีทักษะในการเขียนโปรแกรม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ย. 67)
Tags: AI, BAIDU, แอปพลิเคชัน, ไป่ตู้