นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ หลังถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า 36% ว่า กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยมีบทบาทในกระบวนการเจรจาตั้งแต่ต้น โดยมอบหมายให้นางใจไทย อุปการนิติเกษตร รักษาการอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมคณะทำงานของรัฐบาลที่มีนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ที่จะไปเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีนายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ร่วมเป็นทีมเจรจาด้วย และมีบทบาทสำคัญในการประสาน และสนับสนุนการเจรจาของรัฐบาลไทยกับสหรัฐฯ
ซึ่งเอกอัครราชทูตไทยมีบทบาทในการดำเนินความสัมพันธ์ในทุกมิติกับสหรัฐฯ ไม่เพียงเรื่องการค้า แต่ยังมีเรื่องของความมั่นคงและการทหารที่กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันและมีการพูดคุย รวมถึงเข้าไปโน้มน้าวเจรจาหน่วยงานต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกมิติ ไม่เพียงแต่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังมีที่ปรึกษาของประธานาธิบดี กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหม หน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงเกษตร เป็นต้น
นายมาริษ เชื่อว่า ความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐฯ ที่ยาวนานและแน่นแฟ้น โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงและการทหาร และยังมีความตกลงระหว่างกันมากมาย เช่น สนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ ที่เป็นรากฐานของความร่วมมือและความสัมพันธ์ จึงมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเจรจา
“บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการเจรจาเรื่องนี้ไม่ใช่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังอยู่ในสหรัฐฯ ด้วย เพราะมาตรการภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก กระทบต่อการค้า และผู้ประกอบการในวงกว้าง ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศ และทุกหน่วยงานของไทยล้วนมีบทบาทสำคัญ และต้องร่วมมือกันเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้” นายมาริษ กล่าว
ส่วนมาตรการของไทยที่เตรียมไว้นั้นเป็นท่าทีที่สำคัญของรัฐบาลที่จะใช้ในการต่อรองกับสหรัฐฯ ดังนั้นจึงยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะแต่ละประเทศได้รับผลกระทบแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ ท่าที และการเจรจาต่อรองจึงแตกต่างกัน แต่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยจะเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของประเทศให้ได้มากที่สุด
นายมาริษ กล่าวถึงกรณีที่นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนได้ต่อสายหารือกับผู้นำ 4 ชาติในอาเซียนเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยไม่มีไทยอยู่ในวงหารือด้วยนั้น นายมาริษ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้มีการติดต่อกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในวันถัดมา ซึ่งผู้นำจะมีการติดต่อหารือกันอยู่ตลอดอยู่แล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 เม.ย. 68)
Tags: ภาษีตอบโต้, ภาษีนำเข้า, ภาษีศุลกากร, มาริษ เสงี่ยมพงษ์, สหรัฐ, เศรษฐกิจไทย