ไทยสมายล์บัส เปิดศูนย์ควบคุมอัจฉริยะ ใช้ AI ควบคุมเดินรถ-เรือ เรียลไทม์ตลอด 24 ชม.

น.ส.กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงทุนเพิ่มเติม ระมาณ 300 ล้านบาท สร้างศูนย์ควบคุมอัจฉริยะ Transit Smart Hub หรือ TS-HUB มีห้องวอร์รูม ซึ่งเป็นศูนย์กลางการควบคุมการเดินรถทั้งทางบกและทางน้ำครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย ติดตั้งฮาร์ดแวร์ในรถทุกคัน อู่ทุกแห่ง และมีระบบ ที่จะกลายเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับการบริการ ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) คอยมอนิเตอร์รวบรวมข้อมูลการเดินทางตลอด 24 ชม. ทำให้สามารถตรวจสอบ บริหารจัดการคุณภาพการให้บริการได้อย่างเรียลไทม์ ตัวอย่างเช่น

  • Bus Stop Distribution แสดงความหนาแน่นของจำนวนรถที่ผ่านป้าย
  • Passenger Flow Statistics การแสดงจำนวนผู้โดยสารตามป้ายต่าง ๆ
  • Dispatching การปล่อยรถแต่ละสาย แสดงตำแหน่งรถแต่ละคันในเส้นทาง
  • Alarm Report การแจ้งเตือนพฤติกรรมคนขับขณะให้บริการ
  • Realtime CCTV ตรวจสอบกล้องเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ
  • Data Dashboard สามารถติดตามตัวชี้วัดสำคัญขององค์กรสร้างความโปร่งใสและวัดผลได้

สำหรับระบบของห้อง TS-HUB ยังเข้ามาช่วยเสริมการบริหารงานหลังบ้านได้อีกด้วย เพราะตนมองว่า บริษัทรถเมล์จะเติบโตได้ต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เพื่อลดข้อผิดพลาด ไม่ใช้ความรู้สึกตัดสิน หรือ เรียกว่าเป็น “Data-Driven Company” จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าผู้โดยสารอยู่ตรงไหน ขึ้น-ลงป้ายใด ความต้องการใช้รถคือเท่าใด ระยะห่างของรถ อัตราการใช้พลังงาน กระทั่งปัญหารถไปกองสะสมด้วยสภาพจราจร สิ่งเหล่านี้เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์จะหาได้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์มากำหนดกลยุทธ์ พัฒนาบริการให้ลูกค้าได้ตรงจุด เช่น ข้อมูลจำนวนผู้ใช้บริการ เราต้องแยกประเภทให้เข้าใจแนวโน้ม รูปแบบการเดินทาง แล้วปรับปรุงคุณภาพบริการให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงกำหนดเป้าที่สามารถวัดผลได้จริงกับทีมงาน หากผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เราก็รู้ได้จากข้อมูลว่าจะต้องพัฒนาตรงจุดไหนเพิ่มเติม

น.ส.กุลพรภัสร์ ย้ำว่าแม้ “TS-HUB” จะเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานสู่ระบบขนส่งมวลชนอัจฉริยะ ที่สอดรับกับเป้าหมายด้านการลดคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม และมีความพร้อมในการเชื่อมต่อกับโครงข่ายขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น ๆ เพื่อรองรับการเป็นสมาร์ทซิตี้ในอนาคต แต่ความเป็นจริงของธุรกิจรถเมล์มีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้บริการผู้โดยสารวันละหลายแสนคน มีพนักงานอีกกว่า 5,000 คน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใดย่อมต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ เพราะ TSB เชื่อว่าต้องพัฒนา “คน” ไปพร้อมกับ “เทคโนโลยี” สร้างงานก่อเกิดอาชีพให้คนไทย เศรษฐกิจไทย เติบโตไปคู่กันถึงจะเป็นการยกระดับที่ยั่งยืน

“ห้องวอร์รูม จะเป็นศูนย์รวม มองเห็นรถทั้งหมด มองเห็นเส้นทาง ปัจจุบัน 2,350 คัน ในอนาคตมีแผนจะเพิ่มไปที่ 5,000 คันข้อมูลเหล่านี้จะสามารถนำไปวิเคราะห์ใช้ AI วิเคราะห์ ทำให้มีการใช้บุคลากรน้อยลง ปัญหาคอยรถนาน ลดลง การร้องเรียนต่างๆ ลดลง และเชื่อว่าที่สุดความพึงพอใจจะมากขึ้นไปเกือบ 100% การปฎิรูปไม่ได้แค่ใช้เม็ดเงินแต่เป็นการทุ่มเทและใส่ใจ นำข้อมูลในดาต้า จะนำมาพัฒนาปรับปรุงทุกมิติ และสุดท้ายทำให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว แม้ลงทุนเพิ่มแต่จะไม่มีการบวกเพิ่มค่าโดยสารใดๆ”

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนจะขยายการให้บริการออกไปในจังหวัดรอบกทม. เช่น อยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ที่จะเข้าไปช่วยในการเดินรถโดยสาร เชื่อมั่น มุ่งมั่น พัฒนาการให้บริการ ยกระดับรถเมลฺสาธารณะให้ดียิ่งขึ้น

นางสาวกุลพรภัสร์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้โดยสารของไทยสมายล์บัสเพิ่มขึ้นเป็น 4 แสนคน/วัน สะท้อนถึงความมั่นใจในการใช้บริการของประชาชน โดยเฉพาะบัตร HOP Card ที่มียอดใช้เฉลี่ยเกือบ 2 แสนคน/วัน สามารถเดินทางด้วยรถไทยสมายบัส สูงสุดแค่ 40 บาทไม่จำกัดเที่ยวหากเชื่อม รถต่อเรือ จะเป็นสูงสุด 50 บาทตลอดวัน ครอบคลุมเรือ 3 เส้นทาง และรถ 123 เส้นทาง ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะพัฒนาด้านการตลาด ขยายบัตร HOP Card เพิ่มขึ้น และปีนี้ ตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสาร ปีนี้ 5 แสน -5.5 แสนคน/วัน ขณะที่เปิดเทอม จะมีโปรโมชั่นช่วยลดภาระผู้ปกครอง ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ยกเว้นค่าบริการ

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัวท่าเรือ “สยามเจริญนคร” เป็นจุดจอดเรือแห่งที่ 10 ให้บริการรับส่งผู้โดยสารในเส้นทาง สยามเจริญนคร – วัดวรจรรยาวาส – สาทร – ไอคอนสยาม – ราชวงศ์ – ราชินี – วัดอรุณฯ – ท่าช้าง – พรานนก – พระปิ่นเกล้า รองรับการเดินทางท่องเที่ยวของพี่น้องประชาชน ที่สามารถเดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญริมน้ำเจ้าพระยาได้ แบบไม่ต้องเผชิญกับปัญหารถติด อันจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำพร้อมกับลดปัญหามลพิษของกรุงเทพมหานครได้อีกด้วย

เล็งเพิ่มรถหลังผู้ใช้บริการเพิ่ม จ่อซอยอัตราค่าโดยสารถี่ขึ้น

ด้านนายวรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการและกลยุทธ์ บริษัท ไทย สมายล์ บัสจำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน ให้บริการตามใบอนุญาต 123 เส้นทาง ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 4 แสนคน/วัน เทียบปีก่อนที่มีเฉลี่ย 3.8 แสนคน/วัน โดยมีรายได้ประมาณ 7 ล้านบาท/วัน โดยปัจจุบันใช้รถให้บริการจำนวน 1,650 คัน/วัน มีรายได้เฉลี่ย 3,500 บาท/คัน/วัน ถือว่าระดับที่คุ้มค่าต้นทุน และมีรายได้สูงสุด 3,700 บาท- 4,000 บาท/คันในบางวัน โดยภายในสิ้นปี 2568 มีแผนจะเพิ่มการใช้รถเพิ่มเป็น 2,150 คัน/วัน ขณะที่จำนวนรถทั้งหมดที่มี จำนวน 2,350 คัน

ทั้งนี้จากที่ บริษัทฯมีการคำนวณอัตราค่าโดยสารรูปแบบใหม่ คือ ขึ้นปัดขึ้น ลงปัดลง โดยหากโดยสารขึ้นที่ป้ายย่อยใด ค่าโดยสารจะถูกคิด “ปัดขึ้น” ไปที่ Main Bus ( ป้ายหลัก) ตามตารางค่าโดยสารถัดไป ส่วน”ปัดลง”กรณีลงที่ป้ายย่อยใด ค่าโดยสารจะถูกคิดราคาที่รถขับผ่านมาแล้ว เป็นการคิดตามการเดินทางจริงและเป็นธรรมกับผู้โดยสาร แต่ยอมรับว่า ทำให้รายได้ของบริษัทฯ หายไป 7 ล้านบาท/เดือน ซึ่งจะเริ่มเห็นผลในเดือนเม.ย. 68 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังมีส่วนเดิมที่ชดเชย บัตร HOP ประมาณ 8 ล้านบาท/เดือน ดังนั้น หลังจากนี้ จะมีรายได้หายไปรวมประมาณ 15 ล้านบาท/เดือน

อย่างไรก็ตาม ในด้านผลดำเนินงาน มี Operating Cost เป็นบวกตั้งแต่เดือนพ.ย. 67 แต่ยังขาดทุนสุทธิ ขณะที่ปี 68 ตั้งเป้าหมายผู้โดยสารเพิ่มเป็น 5-5.5 แสนคน/วัน โดยมีสัดส่วนผู้ใช้บริการเพิ่มจาก 36% เป็น 40-41 % ต่อวัน

สำหรับ รายได้ที่ลดลงจากการปรับสูตรคำนวนอัตราค่าโดยสารนั้น บริษัทฯเตรียมเสนอขอปรับโครงสร้างตารางค่าโดยสารใหม่ จากปัจจุบัน มี 3 อัตรา คือ 15- 20-25 บาท เป็น 5-6 อัตรา เช่น 15-17-20-22-25 บาท เพื่อลดช่องว่างราคาลง สะท้อนการใช้บริการจริงและเป็นธรรมกับผู้โดยสารและผู้ให้บริการมากขึ้น เพราะอัตราปัจจุบัน กรอบห่าง 5 บาทต่อช่วง ถือว่าค่อนข้างกว้าง นอกจากนี้ได้มีการปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น บริหารจัดการด้านซ่อมบำรุง เพิ่มประสิทธิภาพพนักงาน อัตราส่วนกับการจ้างงาน เท่าที่จะทำได้ และต้องไม่กระทบต่อคุณภาพการให้บริการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 68)

Tags: , , ,