นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อัพเดทสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 และสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทย โดย กรมวิทย์ฯ ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า 2 สัปดาห์ก่อน องค์การอนามัยโลก (WHO) ปรับชนิดสายพันธุ์ที่ติดตามใกล้ชิด โดยเพิ่ม XBB.1.16* เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง (Variants of Interest: VOI) ล่าสุดต้นเดือนพ.ค. 66 องค์การอนามัยโลกปรับเพิ่ม XBB.1.9.2* เป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง (Variants under monitoring: VUM)
1. VOI 2 สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.1.5* และ XBB.1.16*
2. VUM 7 สายพันธุ์ ได้แก่ BA.2.75, CH.1.1, BQ.1, XBB*, XBB.1.9.1*, XBB.1.9.2* และ XBF
สำหรับสถานการณ์สายพันธุ์เชื้อ SARS-CoV-2 ทั่วโลก อ้างอิงจากฐานข้อมูลกลาง GISAID ในรอบสัปดาห์ 10-16 เม.ย. 66 พบสัดส่วนของสายพันธุ์แตกต่างจากรอบ 1 เดือนก่อนหน้า ดังนี้
- XBB.1.5* รายงานจาก 106 ประเทศ คิดเป็น 46.7% ลดลงจาก 49.3%
- XBB.1.16* รายงานจาก 40 ประเทศ คิดเป็น 5.7% เพิ่มจาก 2.0%
- XBB*, XBB.1.9.1* และ XBB.1.9.2* มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- BA.2.75*, CH.1.1*, BQ.1* และ XBF* มีแนวโน้มลดลง
ส่วนสถานการณ์ล่าสุดในไทยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1-7 พ.ค. 66 มีการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด-19 จำนวน 372 ราย พบเป็นสายพันธุ์ลูกผสม 323 ราย คิดเป็น 86.8% โดยพบผู้ติดเชื้อกระจายทุกเขตสุขภาพ
โดยสัดส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจในสัปดาห์นี้ พบสายพันธุ์ลูกผสมมากกว่า 74% ในทุกเขตสุขภาพ ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งมีตัวอย่างส่งตรวจน้อย พบมากที่สุดเป็นสายพันธุ์ XBB.1.16* คิดเป็น 27.7% รองลงมาคือสายพันธุ์ XBB.1.5* คิดเป็น 22.0% ในขณะที่ BN.1* ซึ่งเคยเป็นสายพันธุ์หลักในไทยตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 65 มีสัดส่วนลดลง
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ตามที่ WHO ได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลก (Public Health Emergency of International Concern) ของโรคโควิด-19 ที่ใช้มานานกว่า 3 ปี หลังพบตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลง และผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติ
อย่างไรก็ตาม WHO ยังย้ำว่า แม้สถานการณ์ฉุกเฉินจะจบลง แต่ก็จะยังคงเฝ้าระวังเชื้อก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่เป็นอันตรายต่อสถานการณ์สาธารณสุขโลกต่อไป รวมทั้งประเทศไทยเองยังคงมีมาตรการรับมือโควิด-19 เช่นเดิม
สำหรับประชาชนแนะนำให้ระมัดระวังในการปฏิบัติตัว ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหากต้องไปร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากหรือไปในที่สาธารณะ และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ยังมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยง 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) จะช่วยลดอาการหนักและเสียชีวิตได้
“กรมวิทย์ฯ ได้ประสานขอให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ส่งตัวอย่างผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติมาตรวจสายพันธุ์เพิ่มขึ้น ขอให้ความมั่นใจว่ากรมวิทย์ฯ และเครือข่าย จะยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ” นพ.ศุภกิจ กล่าว
อนึ่ง * หมายถึง โควิดสายพันธุ์ดังกล่าว สามารถแตกสายพันธุ์ย่อยเพิ่มได้อีก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 66)
Tags: COVID-19, ศุภกิจ ศิริลักษณ์, โควิด-19, โควิดสายพันธุ์ใหม่