นายไชย ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยประกันชีวิต เปิดเผยว่า บริษัทยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ประมาณ 20% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่าย และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินเป็นจำนวนไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นสามัญที่เสนอขายในครั้งนี้ โดยคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมาณปี 65 ซึ่งจะเป็นปีที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจครบ 80 ปี และมี บล.โนมูระ พัฒนสิน และ บล.เกียรตินาคินภัทร เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ทั้งนี้ บริษัทได้ศึกษาและเตรียมพร้อมสำหรับการทำ IPO และการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เป็นไปตามวิสัยทัศน์ในการมุ่งสู่การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน เนื่องจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความแข็งแกร่งรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังสอดรับกับ Business Landscape ของธุรกิจประกันชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งยังเป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อยกระดับการกำกับดูแลและบริหารจัดการองค์กรไปสู่ระดับสากล รวมถึงยกระดับแบรนด์ไทยประกันชีวิตให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ
การระดมทุนดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจของบริษัทให้ดียิ่งขึ้น เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจประกันชีวิตของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการระดมทุนจะนำไปใช้ต่อยอดธุรกิจในด้านต่างๆ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ทั้งการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) การขยายตลาด การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่าย การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน
“ฐานะทางการเงินของบริษัทฯ ในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งมาก โดยมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฏหมาย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 อยู่ที่ 334% ซึ่งสูงกว่าอัตราที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดที่ 120% และบริษัทฯ ยังมีส่วนของผู้ถือหุ้นสูงถึง 82,184 ล้านบาท ซึ่งมากเป็นอันดับที่สามของธุรกิจประกันชีวิตไทย”
นายไชยกล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (61-63) บริษัทฯ มีรายได้รวม 100,851.67 ล้านบาท 108,388.70 ล้านบาท และ 107,642.26 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่มีกำไรสุทธิย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ 6,709.23 ล้านบาท 6,777.35 ล้านบาท และ 7,692.32 ล้านบาท ตามลำดับ ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ระหว่างปี 61-63 ประมาณ 7.1%
ส่วนผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 บริษัทฯ มีรายได้รวม 50,744.50 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,935.33 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 42.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ แต่บริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากอัตรการจ่ายสินไหมสุขภาพของบริษัทฯ ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และหลังการแพร่ระบาดอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งบริษัทฯ ยังสามารถบริหารจัดการด้านสินไหมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับบริษัทฯ มีเงินสำรองประกันชีวิตที่สูง ณ ธ.ค.63 อยู่ที่ 344,590 ล้านบาท ซึ่งพร้อมจ่ายคืนแก่ผู้เอาประกันภัยตามสัญญากรมธรรม์
นายไชย กล่าวว่า ไทยประกันชีวิตดำเนินธุรกิจบนวิสัยทัศน์ “การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน” ด้วยแนวคิดมุ่งสู่การเป็นทุกคำตอบด้านการวางแผนชีวิตและการเงินส่วนบุคคล (Life & Financial Solutions) ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าแบบปัจเจกบุคคล ในทุกช่วงของชีวิต (Life Stage) ทุกจังหวะชีวิต (Life Event) และทุกรูปแบบการใช้ชีวิต (Lifestyle) รวมถึงการพัฒนาบริการที่มากกว่าการประกันชีวิต เพื่อให้สามารถบริการลูกค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไร้รอยต่อ และตรงตามความต้องการ
ปัจจุบันบริษัทฯ มีช่องทางจัดจำหน่ายที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนประกันชีวิตกว่า 66,000 ราย ซึ่งไทยประกันชีวิตเป็นหนึ่งในบริษัทประกันชีวิตที่มีจำนวนตัวแทนฯ มากที่สุด และสามารถสร้างเครือข่ายตัวแทนฯ ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงเป็นช่องทางการจำหน่ายที่สำคัญที่ช่วยให้บริษัทฯ สามารถเปลี่ยนผ่านจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบพื้นฐาน ไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนและให้ผลกำไรมากขึ้น นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีสาขาและศูนย์บริการลูกค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ 270 แห่ง
บริษัทยังพัฒนาช่องทางจัดจำหน่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การขายทางโทรศัพท์ และ E-Commerce รวมถึงการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์และให้บริการแก่ลูกค้า อาทิ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารและองค์กรของรัฐ บริษัทลีสซิ่งและเช่าซื้อ บริษัทสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค ซึ่งบริษัทฯ ทำสัญญาทั้งในลักษณะการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แต่เพียงผู้เดียว (Exclusive) และสัญญาการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบบทั่วไป (Non-exclusive) กับพันธมิตร ช่วยให้มีความยืดหยุ่นในการเลือกพันธมิตรที่ดีที่สุดในแต่ละด้าน และส่งผลต่อมูลค่าของบริษัทฯ โดยรวมในระยะยาว ปัจจุบันบริษัทฯ เป็นพันธมิตรกับธนาคารพาณิชย์จำนวน 4 แห่ง ซึ่งมีเครือข่ายสาขากว่า 750 แห่งทั่วประเทศไทย และเป็นพันธมิตรกับธนาคารและองค์กรของรัฐอีกจำนวน 5 แห่ง ซึ่งมีเครือข่ายสาขากว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ
ทั้งนี้ จากรายงานธุรกิจประกันชีวิตไทยที่จัดทำโดย Milliman Limited ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยอิสระ รายงานว่า ธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ที่ 7.3% โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในปัจจุบันมีอัตราการเข้าตลาด (Penetration Rate) สูงสุดเป็นอันดับสามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ดีในปี 63 อัตราการเข้าตลาด (Penetration Rate) ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำคิดเป็น 3.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product หรือ GDP) ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตในไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตจากปัจจัยหนุนแนวโน้มคนไทยที่มีรายได้สุทธิที่สูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการคุ้มครองสุขภาพและประกันชีวิตที่เพียงพอ และความต้องการวางแผนเกษียณอายุและการออมทั่วไปที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสร้างโอกาสสำคัญในการเติบโตให้กับบริษัทประกันชีวิต ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ต.ค. 64)
Tags: IPO, ก.ล.ต., ประกันชีวิต, ไชย ไชยวรรณ, ไทยประกันชีวิต