ไทยจะรับมือและไปต่ออย่างไรกับภาวะ”วิกฤตซ้อนวิกฤต”จากมุมมอง 2 กูรู

ภาวะวิกฤติซ้อนวิกฤติ (Polycrisis) ที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันในพื้นที่ต่าง ๆ นั้น ส่งผลกระทบต่อหลากหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ หรือ หมอคิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อร่วมตั้ง RISE และประดิษฐ์ มหาศักดิ์ศิริ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจเกิดใหม่ บริษัท เด็นโซ่ ประเทศไทย จำกัด ได้มาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ Polycrisis ในงานเสวนาที่จัดขึ้นโดยแมคฟิว่า (MCFIVA) โดยมีวรัชญา อุรุพงศา Chief Digital Officer (CDO) บริษัท แมคฟิว่า จำกัด เป็นผู้ดำเนินรายการ

เพราะเหตุใดต้อง Rebuilding Trust

นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ หรือ หมอคิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อร่วมตั้ง RISE ที่พึ่งกลับมาจากการเข้าร่วมงาน World Economic Forum 2024 (WEF 2024) ได้ร่วมแชร์ข้อมูลและไอเดียที่ได้มีการถกกันที่เวที WEF 2024 ว่า เวที WEF 2024 ได้มีการเผยแพร่ผลการสำรวจผู้บริหารเกี่ยวกับเศรษฐกิจในปีนี้ โดย 56% มองว่า เศรษฐกิจปีนี้จะแย่ลง ในขณะที่อีก 42% มองว่า เศรษฐกิจอาจจะทรง ๆ และกลับมาขยายตัวขึ้นได้ ซึ่งสถิติเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจและความมั่นใจของผู้ประกอบการและผู้บริโภค

เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี และในขณะเดียวกันก็เกิด Polycrisis ดังนั้น จึงเกิดความจำเป็นในการสร้างความเชื่อใจ ซึ่งเป็นที่มาของธีม Rebuilding Trust ของงาน WEF 2024 เพราะวิกฤตและพลวัต นวัตกรรมที่เกิดขึ้นทำให้ความเชื่อใจหรือ Trust ลดลง ภาคธุรกิจหรือลูกค้าเองขาดความมั่นใจ รู้สึกว่า ไม่ต้องรีบ และไม่ตัดสินใจ หรือรอไปก่อน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ประเด็นที่ถูกพูดถึงบนเวทีดังกล่าว คือ สิ่งแวดล้อม ซึ่งหลายประเทศให้ความสำคัญกับการใช้พลังงาน ในขณะที่การเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) ก็เป็นอีกประเด็นที่ถูกพูดถึง ในแง่ของบทบาทของเอไอที่จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้เกิดความกังวลเรื่องการเข้ามาแทนที่มนุษย์

ส่อง 5 มิติเกี่ยวพัน Polycrisis

ประดิษฐ์ มหาศักดิ์ศิริ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจเกิดใหม่ บริษัท เด็นโซ่ ประเทศไทย จำกัด มองว่า 5 มิติที่เชื่อมโยงกับภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤต คือ เศรษฐกิจ สังคม การเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่ง Polycrisis จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านการจ้างงาน รวมทั้งทักษะในการทำงาน โดยในเรื่องนี้ Human Capital เป็นเรื่องที่สำคัญว่า แรงงานนั้นมีศักยภาพเพียงใด

ส่วนคำถามที่ว่า ไทยจะมีโอกาสรอดจากวิกฤตซ้อนวิกฤตและสามารถฟันฝ่าสถานการณ์นี้ได้หรือไม่นั้น คุณประดิษฐ์ ชี้ว่า ทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ ดังจะเห็นได้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ว่าจะเป็นเหตุสึนามิหรือน้ำท่วมครั้งใหญ่ในไทย ซึ่งไทยก็สามารถผ่านพ้นมาได้

สำหรับบทบาทของเอไอนั้น คุณประดิษฐ์มองว่า เรายังมีโอกาสที่จะนำเอไอมาใช้งานอีกมาก ถือเป็นการสร้างโอกาสและการสร้างงาน เอไออาจจะไม่สามารถเข้ามาแทนที่คนทำงานทุกคนได้ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงคือคนที่มีสกิลอยู่ในระดับกลาง ดังนั้นการพัฒนาทักษะของพนักงานจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเราสามารถนำเอไอมาใช้ช่วยพัฒนาธุรกิจได้ในแง่ของการจัดการข้อมูลต่าง ๆ แต่ธุรกิจก็ต้องไม่ละเลยการจัดการหน้างานที่ทำโดยมนุษย์ เพื่อให้พนักงานสามารถนำเวลาไปทำงานที่มีคุณค่ามากกว่าได้

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่มองข้ามไปไม่ได้อย่าง ปัญหา Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เป็นประเด็นร้อนติดอันดับ 2 ของโลก และปัจจุบันได้กลายเป็น “ภาวะโลกเดือด” ไปแล้ว โดยคุณประดิษฐ์ได้ยกตัวอย่างปัญหาโลกร้อนที่ส่งผลกระทบให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นฤดูหนาวในประเทศไทย รวมทั้งพายุขั้วโลกที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ หรือการที่ดอกซากุระในญี่ปุ่นบานเร็วกว่าปกติถึง 2 สัปดาห์

เมื่อโลกเดือดแล้ว เราควรมีแผนรับมืออย่างไร

คุณประดิษฐ์ มองว่า ปัจจุบัน ไม่มีประเทศไหนแข่งกันเป็นมหาอำนาจด้วยเม็ดเงินแล้ว แต่การเป็นมหาอำนาจในปัจจุบันวัดกันที่ครอบครองขุมทรพย์พลังงานใหม่ กลุ่มประเทศมหาอำนาจในขั้วโลกใต้จะมีบทบาทและเป็นมหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่ครอบครองแหล่งพลังงานใหม่และแร่ธาตุ เช่น นิกเกิ้ล ลิเทียม ฯ ก็จะได้เปรียบ โดยอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอีกอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง เพราะภาวะโลกร้อนนั้น ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและชาวนาและทำให้กลุ่มเกษตรกรไม่มีรายได้ที่จะนำมาลงทุนหรือซื้อรถไถ เป็นต้น ยอดขายรถก็จะตกลงและส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั้งหมด

สำหรับการรับมือกับภาวะโลกเดือดนั้น เราต้องปรับตัวในเชิงนโยบาย คือ ความมุ่งมั่นต่อนโยบาย Net Zero และการลงทุนในเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนหรือ Carbon capture technology โดยเราอาจจะกำหนดเป้าหมายให้ท้าทายมากยิ่งขึ้น

ทางด้านหมอคิด กล่าวว่า ประเด็นเรื่อง Sustainability หรือความยั่งยืน ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึงกันในงาน WEF 2024 โดยเราต้องมาดูว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ตรงจุดไหนในเรื่องนี้ และต้องมีกำหนดเรือธงที่จะดำเนินการ การเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากทุกวันนี้เราใช้พลังงานและปล่อยคาร์บอนเยอะมาก ทั้งจากการใช้พลังงานไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งการใช้พลังงานในตึกสำนักงานขนาดใหญ่

ข้อคิดที่อยากฝากถึงภาครัฐและผู้ประกอบการ

ในมุมของนักธุรกิจนั้น คุณประดิษฐ์ได้ให้ความเห็นว่า “ทุกวิกฤต มีโอกาสใหม่ๆเสมอ” การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) และการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เพื่อสร้างความแท้จริง (Authenticity) และก่อให้เกิดความเชื่อใจกันอีกครั้งท่ามกลางวิกฤติเหล่านี้ที่จะส่งผลดีในอนาคตอย่างต่อเนื่อง ส่วนหมอคิด ได้ยกคำพูดของ Ursula von der Leyen ประธาน European Commission ที่กล่าวในงาน WEF 2024 ว่า “In order to face risks, we need to take risks together” หรือพูดง่ายๆว่า “หนามยอกเอาหนามบ่ง” และขอให้ทุกคนมุ่งมั่นเรียนรู้พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา มั่นใจที่จะออกจาก Comfort Zone และพร้อมที่จะลงมือทำจริง ๆ เพื่อป้องกันปัญหา “ปลาใหญ่กbนปลาเล็ก” ที่จะกลายเป็น “ปลาเร็วกินปลาช้า”

มุมมองเหล่านี้ถือเป็นน้ำจิ้มก่อนหน้างาน SEAT 2024 : Southeast Asia Technology Conference 2024 ที่จะเปิดโอกาสให้เหล่าผู้บริหารทั้งในไทยและต่างประเทศได้พูดคุยกัน ในวันที่ 20-21 มีนาคม 2567

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ม.ค. 67)

Tags: , , , , , , , , ,