ไข้เลือดออกระบาดหนัก 2.8 เท่า เสียชีวิต 41 ราย ยอดป่วยสัปดาห์เดียวพุ่ง 5 พัน

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-19 ก.ค. 66 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 41,527 ราย สูงกว่าปีที่ผ่านมา ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 2.8 เท่า และมีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวน 41 ราย โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 5,057 ราย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ขณะนี้มีผู้ป่วยมากกว่า 4 หมื่นคน เสียชีวิต 40 กว่าคน เป็นกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไปมากกว่าเด็กเล็ก โดยพบว่าผู้เสียชีวิตประมาณ 10% มีการกินยาแอสไพริน หรือยาลดไข้แก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน เป็นต้น ซึ่งทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงให้เลือดออกง่ายจนช็อก และเสียชีวิต

ดังนั้น หากมีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ปวดจุกแน่นในท้อง ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นของโรคไข้เลือดออก ที่วินิจฉัยแยกจากโรคอื่นที่ได้ยาก เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคฉี่หนู ขอให้ระมัดระวังไม่ซื้อยาเหล่านี้มารับประทาน ทั้งนี้ ได้กำชับโรงพยาบาลและบุคลากรแล้วว่าหากผู้ป่วยมีไข้ และยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ให้หลีกเลี่ยงการจ่ายยากลุ่มเอ็นเสด และหากอาการยังไม่ดีขึ้นขอให้กลับไปพบแพทย์อีกครั้ง

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ติดต่อโดยมียุงลายเพศเมียเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร บางรายมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ส่วนใหญ่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดภาวะช็อก และเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ หากประชาชนสงสัยหรือมีอาการเข้าได้กับโรคไข้เลือดออก ห้ามกินยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน และยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ และให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย ประเมินอาการ และการดูแลรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว

*ไทยพบผู้ป่วยไวรัส “ซิกา” แล้ว 110 ราย ใน 20 จังหวัด

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังกล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ว่า ตั้งแต่ 1 ม.ค.-19 ก.ค. 66 พบผู้ป่วยแล้ว 110 ราย ใน 20 จังหวัด แนวโน้มผู้ป่วยเริ่มสูงขึ้นช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา และสูงสุดในเดือนมิ.ย. จำนวน 30 ราย

ส่วนเดือนก.ค.นี้ พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อแล้ว 6 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี 2 ราย พิษณุโลก ระยอง สมุทรสงคราม และตราด จังหวัดละ 1 ราย ซึ่งจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดการแท้ง หรือทารกเกิดภาวะศีรษะเล็กได้ และจากการติดตามหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกา ตั้งแต่ปี 59-65 จำนวน 241 ราย พบมีการแท้ง 4 ราย เด็กที่คลอดมีภาวะศีรษะเล็กและมีผลบวกต่อไวรัสซิกา 3 ราย และได้ติดตามพัฒนาการเด็กจนครบ 2 ปี จำนวน 77 ราย พบมีพัฒนาการผิดปกติ 4 ราย

สำหรับการเฝ้าระวังทารกแรกคลอด 2,187 ราย พบความผิดปกติแต่กำเนิดที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสซิกา 15 ราย สามารถติดตามพัฒนาการจนครบ 2 ปี ได้ 4 ราย พบความผิดปกติด้านพัฒนาการถึง 3 ราย ขณะที่การเฝ้าระวังกลุ่มอาการผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย (Guillain Barre’ syndrome: GBS) 145 ราย พบสัมพันธ์กับไวรัสซิกา 5 ราย

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ปีนี้เริ่มพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้ว และยังพบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งหลายพื้นที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยมียุงลายเป็นหาพะนำโรคเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่มีผื่น และมีไข้/ปวดข้อ/ตาแดง (อย่างน้อย 1 อาการ) โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ในชุมชน หมู่บ้านที่พบผู้ป่วยยืนยัน ทารกคลอดที่มีศีรษะเล็ก และผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย ส่วนทารกคลอดที่มารดามีประวัติติดเชื้อไวรัสซิกา แม้ยังไม่พบความผิดปกติ ต้องติดตามประเมินพัฒนาการอย่างใกล้ชิดจนอายุครบ 2 ปี

สำหรับจังหวัดที่พบผู้ป่วย ให้ดำเนินมาตรการเข้มข้น ทั้งการเฝ้าระวัง สอบสวนควบคุมโรค เพื่อลดจำนวนยุงพาหะ โดยเฉพาะอำเภอที่พบผู้ป่วยและมีหญิงตั้งครรภ์ ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยแจ้งเตือนหญิงตั้งครรภ์ให้ป้องกันยุงกัด อาจใช้ยาทากันยุง และร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะบ้านที่มีหญิงตั้งครรภ์ และชุมชนโดยรอบให้กำจัดยุงตัวแก่ทุกสัปดาห์ จนครบ 4 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้ด้วย

*ไทยยังไม่พบผู้ป่วย “ไข้เลือดออก ไครเมียนคองโก”

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับรายงานพบผู้ติดเชื้อโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก พื้นที่ระบาดอยู่ในประเทศแถบยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียกลาง และเอเชียใต้ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้เป็นโรคติดต่ออันตราย และขอย้ำว่า โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยในประเทศไทย

โรคดังกล่าว มีความแตกต่างจากโรคไข้เลือดออกที่พบผู้ป่วยในประเทศไทย ดังนี้

โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก พบรายงานครั้งแรกในปี พ.ศ.2487 ที่บริเวณแหลมไครเมียน ต่อมาเกิดการระบาดในประเทศคองโก สาเหตุเกิดจากเชื้อไนโรไวรัส (Nairovirus) เชื้อดังกล่าวพบในตัวเห็บที่อาศัยอยู่บนตัวสัตว์เท้ากลีบ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ เป็นต้น พบระบาดในประเทศในแถบแอฟริกา อเมริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแถบแปซิฟิกตะวันตก

ทั้งนี้ สามารถติดต่อโดย 1. ถูกเห็บที่มีเชื้อไนโรไวรัสกัด 2. สัมผัสเลือดหรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีเชื้อ 3. สัมผัสเลือดหรือเนื้อเยื่อของผู้ป่วยไครเมียนคองโก

สำหรับอาการเมื่อป่วย จะเริ่มด้วยอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดกล้ามเนื้อ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดท้อง อุจจาระร่วง มีภาวะเลือดคั่ง ตาอักเสบบวมแดง อาจมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง เกิดขึ้นบริเวณหน้าอกและท้องแล้วกระจายไปทั่วร่างกาย อาจมีเลือดออกที่บริเวณเหงือก จมูก ปอด มดลูก ทางเดินปัสสาวะ และทางเดินอาหาร อัตราการป่วยตายจะอยู่ที่ 30-40% หากพบผู้ติดเชื้อให้แยกผู้ป่วยให้อยู่ในห้องเดี่ยว และควรเป็นห้องความดันลบ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ค. 66)

Tags: , , ,