ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ยังเผชิญกับภาวะความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ผลักดันให้หลายประเทศสร้างความมั่นคงด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศมากขึ้น
ปัจจุบัน ความต้องการใช้เซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ขณะที่โลกยังต้องเผชิญกับความท้าทาย จากปัญหาห่วงโซ่อุปทานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์สะดุด จากปัญหาสงครามการค้า และลุกลามมาเป็นสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่เป็นแรงกดดันให้ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าสถานการณ์ความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทาน จะเริ่มคลี่คลายลงจากการกลับมาผลิตได้มากขึ้น แต่ในระยะข้างหน้า ยังคงต้องจับตามองทิศทางและความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานเซมิคอนดักเตอร์โลก เนื่องจากอุปสงค์มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวสูงขึ้นอีกครั้ง ตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตยังมีความเสี่ยงรุมเร้าอยู่อีกหลายด้าน
ทั้งนี้ ความไม่สมดุลดังกล่าว กลายเป็นแรงผลักดันให้หลายประเทศ พยายามสร้างความมั่นคงด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศตนเองมากขึ้น โดยปัจจุบัน มีหลายประเทศเร่งสร้างความมั่นคง ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศตนเอง เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่ออกกฎหมาย CHIPS Act เพื่อสนับสนุนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ
ส่วนผู้ผลิตในภูมิภาคเอเชีย ก็มีความพยายามที่จะรักษาฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศตนเองเช่นกัน รวมไปถึงการออกมาตรการตอบโต้ทางการค้า ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือในกรณีของรัฐบาลจีน ที่มีการออกมาตรการตอบโต้จากการถูกกีดกันทางเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน ยังคงมีความท้าทายอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณการผลิตที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ ขณะเดียวกัน แต่ละประเทศยังมีการย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่มีศักยภาพการผลิตสูง
SCB EIC มองว่า การเกิดห่วงโซ่อุปทานการผลิตใหม่ของโลก จะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตบางส่วนมายังไทย และเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ในไทยมากขึ้น โดยมองว่า ในอนาคตอุตสาหกรรมชิปของไทย มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดไปสู่ระดับ Front end และระดับ Back end ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ไปจีน อาจได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อที่ลดลง จากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ SCB EIC มองว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในไทยที่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลดีต่อการจ้างงานภายในประเทศในระยะยาว รวมไปถึงการเกิดขึ้นของห่วงโซ่อุปทานการผลิตใหม่ ที่รองรับตลาดภายในประเทศมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทย ยังคงมีความท้าทายจากข้อจำกัดทางเทคโนโลยี และค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูง ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ จึงต้องปรับตัวโดยมีกลยุทธ์สำคัญ ดังนี้
1. การสร้างความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งภายในอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์
2. มองหาพันธมิตรใหม่ในการร่วมลงทุนจากอานิสงส์ของการย้ายฐานการผลิต
3. การพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ โดยการวิจัยและพัฒนามากขึ้น
4. ส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงาน การเตรียมความพร้อมแรงงานทั้งด้าน Hard skills และ Soft skills เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ย. 66)
Tags: SCB EIC, ธนาคารไทยพาณิชย์, เซมิคอนดักเตอร์