ศาลสูงสุดในรัฐแอละแบมาของสหรัฐตัดสินให้ “ตัวอ่อนแช่แข็ง” นับว่าเป็นเด็กที่มีสิทธิทางกฎหมาย และบุคคลใดๆ ที่ทำลายโดยไม่ตั้งใจอาจถูกดำเนินคดีทางอาญา ซึ่งส่งก่อให้เกิดการถกเถียงครั้งใหม่ด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ของสหรัฐ
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า โรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดของรัฐแอละแบมาทางตอนใต้ของสหรัฐ ได้ระงับบริการการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) หรือเด็กหลอดแก้วชั่วคราวหลังคำตัดสินของศาล เนื่องจากกังวลว่าอาจถูกดำเนินคดีทางอาญา
ระบบสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยแอละแบมาที่เบอร์มิงแฮม กล่าวว่า จะยังคงเก็บไข่จากรังไข่ของผู้หญิงต่อไป แต่จะระงับขั้นตอนต่อไปในกระบวนการ IVF ซึ่งไข่จะได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิก่อนจะฝังเข้าไปในมดลูก
“เรารู้สึกเสียใจที่คำตัดสินดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความพยายามของผู้ป่วยในการมีลูกด้วยวิธี IVF” ระบบสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยแอละแบมาที่เบอร์มิงแฮม ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์ชั้นนำของรัฐระบุในแถลงการณ์ กล่าว พร้อมระบุเสริมว่า “แต่เราต้องประเมินศักยภาพที่แพทย์และผู้ป่วยของเราอาจถูกดำเนินคดีทางอาญาหรือเผชิญค่าเสียหายจากการลงโทษฐานปฏิบัติตามมาตรฐานการดูแลการรักษา IVF”
ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และกลุ่มสนับสนุนสิทธิในการเจริญพันธุ์เตือนว่า คำตัดสินดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อการรักษาภาวะเจริญพันธุ์ในรัฐแอละแบมาและที่อื่น ๆ
ทั้งนี้ บรรดากลุ่มอนุรักษ์นิยมยินดีกับคำตัดสินดังกล่าว โดยระบุว่าแม้แต่ตัวอ่อนที่เล็กที่สุดก็สมควรได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.พ. 67)
Tags: ตัวอ่อนแช่แข็ง, รัฐแอละแบมา, ศาลสูงสุด, สหรัฐ, เด็ก, เด็กหลอดแก้ว, เวชศาสตร์