นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 32 ในเดือน ส.ค.66 ภายใต้หัวข้อ “อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น กระทบอุตสาหกรรมแค่ไหน” โดยผู้บริหาร ส.อ.ท.มองว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 2 ส.ค.66 มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี จาก 2.00% เป็น 2.25% สูงสุดในรอบ 9 ปี ส่งผลทำให้ต้นทุนทางการเงินปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ จึงค่อนข้างมีความกังวลมากกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อีก 1 ครั้งในช่วงปลายปีนี้ และอาจกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกครั้ง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในเรื่องกำลังซื้อของประชาชนที่ชะลอตัว เนื่องจากภาระอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และหนี้สินครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ประชาชนเริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ภาคธุรกิจเกิดแรงกดดันที่อาจส่งผลทำให้การปรับราคาสินค้าเพิ่มตามต้นทุนจริงทำได้ยากขึ้น ตลอดจนต้องชะลอการลงทุนใหม่ออกไป
ดังนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท.จึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ขอให้ธนาคารรัฐสนับสนุนมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ มีการกำกับดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ (สเปรด) ให้ส่วนต่างลดลง รวมทั้งปรับเงื่อนไขการขอสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ เพื่อลดภาระและช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น และขอให้ ธปท.พิจารณาชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปก่อนในช่วงนี้
ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง และกดดันเศรษฐกิจไทยอยู่ในขณะนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท.เสนอให้รัฐบาลยกระดับปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นวาระเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ตั้งแต่การเข้ามาดูแลค่าครองชีพของประชาชน เช่น ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ เพื่อลดภาระให้ประชาชนมีเงินเหลือใช้มากขึ้น การส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีรายได้จากการทำงาน การออกมาตรการสร้างแรงจูงใจเชิงบวกให้กับลูกหนี้ชั้นดี และส่งเสริมให้ประชาชนใช้มาตรการช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งในส่วนของหนี้สถาบันการเงิน และหนี้นอกระบบ
พร้อมเห็นว่า จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐในการนำมาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างครบวงจรต่อไป
โดยผลสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 216 คน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า กรณี ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 2.25% ต่อปี ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ 60.2% มีความกังวลมาก รองลงมาอีก 33.3% มีความกังวลปานกลาง ส่วนที่เหลืออีก 6.5% มีความกังวลน้อย
ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ 37.5% คาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในสิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ระดับ 2.25% ต่อปี รองลงมา 32.4% คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.50% ต่อปี และอีก 30.1% คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.00% ต่อปี
ผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่มีต่อภาคอุตสาหกรรม
อันดับ 1 คือ กำลังซื้อสินค้าของประชาชนลดลงจากภาระอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และหนี้สินครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น 64.8%
อันดับที่ 2 คือ แรงกดดันที่อาจทำให้การปรับราคาสินค้าเพิ่มตามต้นทุนจริงทำได้ยากขึ้น และส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 62.0%
อันดับที่ 3 คือ ชะลอการลงทุนใหม่ และมีการปรับลดกำลังการผลิตลงจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น 56.5%
อันดับที่ 4 คือ สถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ 46.8%
แนวทางในการรับมืออัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของภาคอุตสาหกรรม
อันดับที่ 1 คือ ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ 70.4%
อันดับที่ 2 ชะลอการลงทุน ปรับการบริหารกระแสเงินสดใหม่เพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน 67.1%
อันดับที่ 3 ปรับโครงสร้างหนี้ให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับความสามารถในการดำเนินธุรกิจ 42.6%
อันดับที่ 4 หาแหล่งเงินทุนใหม่นอกเหนือจากการกู้เงินผ่านสถาบันการเงิน เช่น การระดมทุน 31.5%
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการจากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
อันดับที่ 1 ธนาคารรัฐสนับสนุนมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการ SMEs 68.5%
อันดับที่ 2 กำกับดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ (Spread) ให้ส่วนต่างลดลง รวมทั้งปรับเงื่อนไขการขอสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ เพื่อลดภาระและช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น 67.1%
อันดับที่ 3 ธปท.ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 58.8%
อันดับที่ 4 ขยายระยะเวลามาตรการปรับโครงสร้างหนี้ (ฟ้า-ส้ม) ออกไปอีก 2 ปี 36.1%
ส่วนข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง
อันดับที่ 1 มาตรการดูแลค่าครองชีพของประชาชน เช่น ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า น้ำประปา เป็นต้น 67.6%
อันดับที่ 2 ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีรายได้จากการทำงาน 61.6%
อันดับที่ 3 มาตรการสร้างแรงจูงใจเชิงบวก (Incentives) ให้กับลูกหนี้ชั้นดี เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย การให้สิทธิประโยชน์เพิ่ม เป็นต้น 60.2%
อันดับที่ 4 ส่งเสริมให้ประชาชนใช้มาตรการช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งในส่วนของหนี้สถาบันการเงิน และหนี้นอกระบบ 58.3%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ส.ค. 66)
Tags: คณะกรรมการนโยบายการเงิน, มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์, ส.อ.ท., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, อัตราดอกเบี้ย