โพลส.อ.ท. ชี้นโยบายรัฐบาลใหม่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมระดับปานกลาง

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารฯ FTI CEO Poll ครั้งที่ 33 ในเดือน ก.ย.66 ภายใต้หัวข้อ “นโยบายรัฐบาลใหม่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมแค่ไหน” โดยผู้บริหาร ส.อ.ท.พิจารณาจากการแถลงนโยบายรัฐบาลใหม่ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ในช่วงวันที่ 11-12 ก.ย.ที่ผ่านมาแล้ว

ส่วนใหญ่คิดว่านโยบายของรัฐใหม่สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้ในระดับปานกลาง เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาส่งผลให้มีการบ้านหลายเรื่องที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแลให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่ยังไม่สามารถฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดนโยบายของรัฐบาลใหม่มีหลายเรื่องที่ ส.อ.ท.ให้ความสนใจและมองว่าจะสร้างผลกระทบต่อการขับเคลื่อนประเทศในด้านต่างๆ ได้ เช่น ในส่วนของมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ ส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนและปรับโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศเป็นลำดับแรก

ส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจ ส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับการยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ไม่จำเป็น เพื่อสร้างโอกาสให้กับประชาชนในการสร้างรายได้เป็นลำดับแรก

ขณะที่นโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการวิจัย พัฒนาพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าภาคการเกษตร และในส่วนของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดเป็นลำดับแรก ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อสร้างรากฐานที่ดีในการพัฒนาประเทศในระยะถัดไป

นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังให้ความสำคัญกับนโยบายในการดูแลแรงงาน โดยเฉพาะการส่งเสริมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกสาขาอาชีพ เพื่อให้สามารถจ่ายค่าจ้างได้ตามความสามารถของแรงงาน (Pay by Skills) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ลูกจ้างได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามความสามารถ และในส่วนของผู้ประกอบการเองก็ได้ประโยชน์จากประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นด้วย

สำหรับการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 290 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 33 ดังนี้

1.นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ที่ภาคอุตสาหกรรมคิดว่ามีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Multiple choices)

อันดับ 1 ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนและปรับโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ 85.9%

อันดับ 2 แก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน 57.6%

อันดับ 3 ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เช่น Free Visa 52.1%

อันดับ 4 นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet 27.2%

2.นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่ภาคอุตสาหกรรมคิดว่ามีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Multiple choices)

อันดับ 1 ยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ไม่จำเป็น เพื่อสร้างโอกาสให้กับประชาชนในการสร้างรายได้ 72.8%

อันดับ 2 การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ๆ และเร่งการเจรจากรอบความร่วมมือเขตการค้าเสรี (FTA) 53.4%

อันดับ 3 พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมสีเขียว 51.0%

อันดับ 4 ปรับปรุงกระบวนการ พิจารณาอนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 46.6%

3. นโยบายส่งเสริมการเกษตรของรัฐบาลใหม่ที่ภาคอุตสาหกรรมท่านคิดว่าจะช่วยยกระดับภาคการเกษตร (Multiple choices)

อันดับ 1 วิจัย พัฒนาพันธุ์ เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าผลตอบแทนต่อไร่ให้สูงขึ้น รวมทั้งการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น 65.9%

อันดับ 2 บูรณาการองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ 61.7% อั

นดับที่ 3 สร้างรายได้ในภาคการเกษตรโดยใช้หลักการตลาดนำนวัตกรรมเสริม 59.3%

อันดับที่ 4 สนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและเศรษฐกิจ 55.2%

4.นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลใหม่ที่ภาคอุตสาหกรรมคิดว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม (Multiple choices)

อันดับ 1 ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน 67.2%

อันดับ 2 วางแผนรับมือและป้องกันวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 60.0%

อันดับ 3 ส่งเสริมและเร่งฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดินและน้ำคืนสู่ธรรมชาติ แก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมและมลภาวะ 55.2%

อันดับ 4 แก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ 54.1%

5.รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายด้านการดูแลแรงงานอย่างไร (Multiple choices)

อันดับ 1 ผลักดันให้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกสาขาอาชีพ เพื่อให้สามารถจ่ายค่าจ้างได้ตามความสามารถ (Pay by Skills) 66.9%

อันดับ 2 สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาทักษะ UpSkill/Reskill ให้รองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ 65.2%

อันดับ 3 ใช้กลไกคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีรายจังหวัดในการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 62.1%

อันดับ 4 พัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Data ของแรงงานทั้งระบบเพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนากำลังคน และสร้างความสมดุลด้านกำลังแรงงานในแต่ละ Sector 52.8%

6.นโยบายรัฐบาลใหม่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในระดับใด

อันดับ 1 ปานกลาง 64.1%

อันดับ 2 น้อย 22.1%

อันดับ 3 มาก 13.8%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ย. 66)

Tags: , , , , ,