ช่างเครื่องของโบอิ้ง (Boeing) ที่กำลังผละงานประท้วงจะลงคะแนนในวันพุธนี้ (23 ต.ค.) เกี่ยวกับสัญญาฉบับใหม่ที่เสนอขึ้นเงินเดือน 35% ภายใน 4 ปี ซึ่งอาจยุติการประท้วงที่กินเวลานาน 5 สัปดาห์และสร้างความเสียหายหนักให้บริษัท ตามรายงานจากโบอิ้งและสหภาพแรงงานเมื่อวันเสาร์ (19 ต.ค.)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พนักงานสหภาพแรงงานของโบอิ้งราว 33,000 คน ทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรัฐวอชิงตัน ได้เริ่มประท้วงตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย. การหยุดงานครั้งนี้ทำให้สายการผลิตเครื่องบินรุ่นขายดีอย่าง 737 MAX และเครื่องบินลำตัวกว้างรุ่น 767 และ 777 ต้องหยุดชะงัก ยิ่งซ้ำเติมฐานะการเงินของโบอิ้งที่กำลังย่ำแย่อยู่แล้วให้หนักขึ้นไปอีก
สหภาพแรงงานช่างเครื่องและคนงานด้านอวกาศนานาชาติ Local 751 ระบุว่า ข้อเสนอใหม่นี้ประกอบด้วยโบนัสพิเศษ 7,000 ดอลลาร์หากสัญญาได้รับการอนุมัติ มีการนำแผนจูงใจกลับมาใช้ใหม่ และเพิ่มเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 401(k) ของพนักงาน โดยนายจ้างจะสมทบเพิ่มให้สูงสุด 12% พร้อมเงินก้อนอีก 5,000 ดอลลาร์
โบอิ้งประกาศเมื่อวันเสาร์ว่า “ตั้งตารอให้พนักงานของเราลงคะแนนเสียงในข้อเสนอที่ได้จากการเจรจา”
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าพนักงานโบอิ้งจะเห็นชอบกับข้อเสนอนี้ หลังจากที่พวกเขาเคยโหวตคว่ำข้อเสนอแรกไปอย่างถล่มทลาย โดยสหภาพแรงงานกล่าวกับพนักงานในวันเดียวกันว่า “อนาคตของสัญญานี้อยู่ในมือของพวกคุณ”
ก่อนหน้านี้ หอการค้าสหรัฐฯ ได้เรียกร้องผ่านทางเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงเพื่อยุติการประท้วงหยุดงาน ซึ่งกำลังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั่วทั้งอุตสาหกรรม จนทำให้ซัพพลายเออร์ของโบอิ้งอย่างสปิริต แอโรซิสเต็มส์ (Spirit AeroSystems) ต้องประกาศพักงานพนักงานบางส่วนแบบชั่วคราว
เดิมทีโบอิ้งเคยเสนอขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน 30% ระยะเวลา 4 ปี แต่ข้อเสนอนี้ถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 8 ต.ค. หลังจากการเจรจาต่อรองกับสหภาพแรงงาน รวมถึงการไกล่เกลี่ยโดยคนกลางจากรัฐบาลกลาง ไม่ประสบความสำเร็จ
ฝั่งสหภาพแรงงานต้องการขึ้นเงินเดือน 40% และต้องการให้โบอิ้งนำระบบบำนาญแบบกำหนดอัตราผลประโยชน์กลับมาใช้ แต่ข้อเสนอสัญญาฉบับใหม่ของโบอิ้งไม่มีระบบบำนาญแบบนี้รวมอยู่ด้วย
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพแรงงาน 2 รายในซีแอตเทิลให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า พวกเขาเชื่อว่าสมาชิกจะลงมติเห็นชอบกับข้อตกลง แม้คาดว่าจะเกิดกระแสต่อต้านจากพนักงานอาวุโสที่ต้องการให้โบอิ้งนำเงินบำนาญแบบกำหนดอัตราผลประโยชน์กลับมาใช้ก็ตาม
เดือนก.ย. ที่ผ่านมา พนักงานโบอิ้งฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เกือบ 95% ลงมติปฏิเสธข้อตกลงเบื้องต้นที่เสนอขึ้นเงินเดือน 25% ตลอด 4 ปี ซึ่งข้อตกลงนี้ได้รับการสนับสนุนจากตัวแทนสหภาพแรงงานแล้ว การปฏิเสธครั้งนี้จึงเป็นชนวนนำไปสู่การประท้วงในที่สุด
ข้อตกลงเบื้องต้นของเมื่อเดือนก.ย. ดังกล่าวยังมีโบนัสเซ็นสัญญา 3,000 ดอลลาร์อีกด้วย แต่พนักงานโบอิ้งบางคนให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่าเงินโบนัสจำนวนนี้น้อยเกินไป เพราะข้อตกลงก่อนหน้านี้ พวกเขาได้รับโบนัสอย่างน้อย 5,000 ดอลลาร์
เมื่อวันเสาร์ สหภาพแรงงานโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดียว่า ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐมนตรีรักษาการกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ จูลี ซู พวกเขาได้รับ “ข้อเสนอที่ผ่านการเจรจาแล้ว” และบอกกับพนักงานที่กำลังประท้วงว่า “ข้อเสนอนี้สมควรได้รับการพิจารณาจากพวกคุณ”
ก่อนหน้านี้ ซูได้เดินทางไปยังเมืองซีแอตเทิลเมื่อวันจันทร์ (14 ต.ค.) เพื่อช่วยไกล่เกลี่ยข้อตกลงระหว่างโบอิ้งกับสหภาพแรงงานด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก และหลังจากเดินทางไปดีทรอยต์ ซูก็กลับมาซีแอตเทิลอีกครั้งในคืนวันพฤหัสบดี (17 ต.ค.) เพื่อสานต่อความพยายามในการไกล่เกลี่ย
โฆษกของซูกล่าวเมื่อวันศุกร์ (18 ต.ค.) ว่า ซูอยู่ที่ซีแอตเทิลเพื่อหารือกับทั้งฝ่ายโบอิ้งและสหภาพแรงงาน และได้พบกับซีอีโอของโบอิ้ง เคลลี ออร์ตเบิร์ก และตัวแทนสหภาพแรงงานแล้ว
แม้ว่าจะมีเสียงตอบรับเชิงบวกเกี่ยวกับข้อตกลงใหม่นี้ปรากฏบนโซเชียลมีเดียในบ่ายวันเสาร์บ้าง แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าผลการลงคะแนนเสียงของพนักงานจะออกมาเป็นอย่างไร
โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เชื่อว่า กระบวนการเจรจาต่อรองร่วมกันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างผลลัพธ์ที่ดีสำหรับแรงงาน และการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับสัญญาจะเป็นของสมาชิกสหภาพแรงงาน
ก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โบอิ้งประกาศแผนปลดพนักงาน 17,000 ตำแหน่ง หรือ 10% ของพนักงานทั่วโลก และตั้งสำรองค่าใช้จ่ายไว้ 5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ตอกย้ำความวุ่นวายที่โบอิ้งเผชิญมาตลอดปี นับตั้งแต่เครื่องบิน 737 MAX 9 ใหม่ของสายการบินอลาสก้า แอร์ไลน์ส (Alaska Airlines) ประสบเหตุฉุกเฉินกลางอากาศ
วันอังคารที่ผ่านมา (15 ต.ค.) โบอิ้งประกาศแผนระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นและตราสารหนี้วงเงินสูงสุด 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในสามปีข้างหน้า และได้บรรลุข้อตกลงสินเชื่อวงเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ โบอิ้งเผชิญแรงกดดันอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนม.ค. เมื่อแผงประตูของเครื่องบิน 737 MAX 9 หลุดออกกลางอากาศ ส่งผลให้สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) สั่งห้ามโบอิ้งเพิ่มกำลังการผลิต และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา FAA ได้เปิดการสอบสวนด้านความปลอดภัยรอบใหม่เกี่ยวกับโบอิ้งอีกครั้ง
ต่อมาในเดือนก.ค. โบอิ้งยอมรับสารภาพในข้อหาสมรู้ร่วมคิดฉ้อโกง ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา และตกลงจ่ายค่าปรับอย่างน้อย 243.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่โบอิ้งละเมิดข้อตกลงรอลงอาญาที่ทำไว้ในปี 2564
ความขัดแย้งทางแรงงานครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบทางลบต่อรายงานการจ้างงานเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ซึ่งจะเผยแพร่เพียงไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ ในวันที่ 5 พ.ย.
นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า การประท้วงของพนักงานโบอิ้ง รวมถึงการพักงานแบบหมุนเวียนของพนักงานที่ไม่ได้ประท้วง และการเลิกจ้างชั่วคราวในบริษัทคู่ค้าของโบอิ้ง อาจทำให้ตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรกรรมลดลงถึง 50,000 ตำแหน่งในเดือนนี้ ทั้งนี้ ในเดือนก.ย. เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 254,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานลดลงจาก 4.2% ในเดือนส.ค. เหลือ 4.1%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 67)
Tags: ขึ้นเงินเดือน, หยุดงาน, โบอิ้ง