กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (DOJ) เปิดเผยในเอกสารที่ยื่นต่อศาลเมื่อค่ำวันอาทิตย์ (7 ก.ค.) ว่า บริษัทโบอิ้ง (Boeing) ตกลงยอมรับสารภาพผิดในข้อหาสมคบคิดฉ้อโกง เพื่อยุติการสอบสวนโดย DOJ ที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุเครื่องบิน 737 MAX ตก 2 ครั้ง
เอกสารที่ DOJ ยื่นต่อศาลรัฐบาลกลางในรัฐเท็กซัส ซึ่งแสดงรายละเอียดเบื้องต้นของข้อตกลงดังกล่าว ระบุว่า หากข้อตกลงนี้ได้รับการอนุมัติจากผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลาง ก็จะทำให้โบอิ้งกลายเป็นบริษัทที่มีประวัติการกระทำผิดอาญาอุกฉกรรจ์ และต้องจ่ายค่าปรับทางอาญาเป็นจำนวน 243.6 ล้านดอลลาร์
ข้อตกลงนี้ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลาง ซึ่งจะส่งผลให้โบอิ้งมีประวัติอาชญากรรม นอกจากนี้ บริษัทยังต้องจ่ายค่าปรับทางอาญาสูงถึง 243.6 ล้านดอลลาร์ ตามที่ระบุในเอกสารที่ยื่นต่อศาลรัฐบาลกลางในรัฐเท็กซัส
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ข้อกล่าวหานี้เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุเครื่องบิน 737 MAX ตก 2 ครั้งในอินโดนีเซียและเอธิโอเปียในช่วง 5 เดือนในปี 2561-2562 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 346 คน และทำให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตเรียกร้องให้โบอิ้งถูกดำเนินคดี
โฆษกของโบอิ้งยืนยันว่า บริษัทได้ “บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับเงื่อนไขในการยุติคดีกับกระทรวงยุติธรรมแล้ว”
ตามเอกสารระบุว่า โบอิ้งตกลงที่จะลงทุนอย่างน้อย 455 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพื่อยกระดับโปรแกรมความปลอดภัยและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ
DOJ จะแต่งตั้งผู้ตรวจสอบอิสระเพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติตามข้อตกลงของบริษัท โดยผู้ตรวจสอบจะต้องยื่นรายงานความคืบหน้าประจำปีของบริษัทต่อศาลอย่างเปิดเผย นอกจากนี้ โบอิ้งจะอยู่ภายใต้การคุมประพฤติ ซึ่งในระหว่างนั้นบริษัทจะต้องไม่ละเมิดกฎหมายใด ๆ จนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลา 3 ปีของผู้ตรวจสอบ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. DOJ ได้เสนอข้อตกลงให้โบอิ้งยอมรับสารภาพ และให้เวลาบริษัทพิจารณารับข้อตกลงภายในสัปดาห์นั้น มิฉะนั้นจะต้องขึ้นศาลในข้อหาสมคบคิดฉ้อโกงองค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) เกี่ยวกับฟีเจอร์ซอฟต์แวร์หลักที่เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุเครื่องบินตก
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้ครอบคลุมเฉพาะการกระทำของโบอิ้งก่อนเกิดเหตุการณ์ที่อินโดนีเซียและเอธิโอเปียเท่านั้น และไม่ได้ปกป้องโบอิ้งจากการสอบสวนหรือข้อกล่าวหาอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในเดือนมกราคมหรือการกระทำอื่น ๆ
โบอิ้งเตรียมที่จะยอมรับสารภาพผิดในข้อหาให้การเท็จต่อ FAA เกี่ยวกับการขยายฟีเจอร์ของซอฟต์แวร์หลักที่ใช้ในเครื่องบิน MAX เพื่อให้สามารถบินด้วยความเร็วต่ำได้ ซึ่งซอฟต์แวร์ใหม่นี้ช่วยให้โบอิ้งประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากไม่จำเป็นต้องฝึกอบรมนักบินอย่างเข้มข้น
ฟีเจอร์ซอฟต์แวร์ดังกล่าวมีชื่อว่าระบบ Maneuvering Characteristics Augmentation System (MCAS) ทำหน้าที่ปรับหัวเครื่องบินลงโดยอัตโนมัติในบางสถานการณ์ ซึ่งเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุทั้ง 2 ครั้ง ทำให้ FAA สั่งห้ามใช้งานเครื่องบินรุ่นนี้นาน 20 เดือน สร้างความเสียหายให้โบอิ้งกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ก่อนที่จะอนุญาตให้บินได้อีกครั้งในเดือนพ.ย. 2563
ตามเอกสารระบุว่า ในฐานะส่วนหนึ่งของข้อตกลง คณะกรรมการบริหารของโบอิ้งจะพบปะกับญาติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบิน MAX ตกด้วย
อย่างไรก็ดี ทนายความของครอบครัวผู้เสียชีวิตบางรายแถลงว่า จะใช้สิทธิ์คัดค้านข้อตกลงนี้
“ทางครอบครัวตั้งใจที่จะโต้แย้งว่า ข้อตกลงรับสารภาพของโบอิ้งนั้นไม่เป็นธรรม เพราะเป็นการผ่อนปรนให้โบอิ้งแบบที่จำเลยคดีอาญาอื่น ๆ ไม่มีวันได้รับ และล้มเหลวในการเอาผิดกับโบอิ้งต่อการเสียชีวิตของ 346 คน” กลุ่มทนายกล่าวในเอกสารแยกต่างหากที่ยื่นต่อศาล
ค่าปรับครั้งนี้จำนวน 243.6 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นครั้งที่สองที่โบอิ้งต้องจ่ายในคดีเครื่องบินตกที่อินโดนีเซียและเอธิโอเปีย ทำให้ยอดรวมค่าปรับสูงถึงเพดานสูงสุดที่กฎหมายกำหนด โดยครั้งแรกบริษัทได้จ่ายไปแล้วโดยเป็นส่วนหนึ่งของการชดใช้เป็นเงินมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2564 ทั้งนี้ ค่าปรับ 243.6 ล้านดอลลาร์นี้ คำนวณจากจำนวนเงินที่โบอิ้งประหยัดได้จากการไม่จัดฝึกอบรมนักบินเครื่องบิน 737 MAX ด้วยเครื่องจำลองการบินเต็มรูปแบบ
ด้านครอบครัวผู้เสียชีวิตไม่พอใจกับข้อตกลงครั้งก่อน และในปีนี้ได้กดดันให้ DOJ เรียกร้องค่าเสียหายจากโบอิ้งสูงถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์
ในปีนี้ DOJ ได้จัดการประชุมหลายครั้งเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากครอบครัวผู้เสียชีวิต ในระหว่างการสอบสวนกรณีโบอิ้งละเมิดข้อตกลงปี 2564
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 67)
Tags: กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ, เครื่องบิน, โบอิ้ง