บล.ดาโอ (DAOL) มอง Overweight กลุ่ม Finance และกลุ่มแบงก์ จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนที่เข้มงวดน้อยกว่าคาด เริ่ม 1 เม.ย.67
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. เผยว่าธปท. เตรียมออกมาตรการสำหรับการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ผ่านมาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ที่จะมีผล 1 ม.ค. 2567 รวมถึงมาตรการแก้หนี้เรื้อรังภายใน 1 เม.ย. 2567 โดย ธปท.จะมีการออก Directional Paper ภายในไตรมาสที่ 3/2566 ทั้งนี้มาตรการแก้หนี้เรื้อรัง จะเป็นการเข้ามาดูแลในส่วนของสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving) และสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ที่มีลูกหนี้เข้าข่าย คือ ชำระหนี้ดอกเบี้ยสะสมมากกว่าเงินต้นมาแล้ว 5 ปี และมีรายได้น้อย ผ่านการเสนอช่องทางให้เปลี่ยนเป็น Term loan ที่จะต้องปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี, คิดดอกเบี้ยต่ำกว่า 15% และลูกค้าจะต้องมีชื่อแท็กในเครดิตบูโร
DAOL มองเป็น sentiment เชิงบวกจากเกณฑ์การออกมาตรการควบคุมหนี้เรื้อรัง ที่มีความผ่อนคลายมากขึ้นจากช่วงก่อนหน้า ทั้ง 1) ลูกหนี้ที่เข้าข่ายจะเป็นลูกหนี้ที่ไม่สามารถปิดบัญชีได้ภายใน 5 ปี (เดิม 4 ปี) ทำให้ปริมาณลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์การแก้ไขลูกหนี้เรื้อรังที่น้อยลง และ 2) การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่น้อยลงเป็นสูงสุดไม่เกิน 10% อิงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 25% เป็น 15% (เดิมลด 8-12%) ขณะที่ Timeline ยังเป็นไปตามคาดที่ ธปท. จะออกมาตรการควบคุมในไตรมาส 3/66 รวมทั้งเราประเมินว่าโอกาสที่จะเกิด Moral Hazard ต่ำ เนื่องจากลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะถูกติด Flag NCB ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้จนกว่าที่จะเคลียร์หนี้จบ
สำหรับกลุ่ม Finance เราประเมินผลกระทบเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ AEONTS (ถือ/เป้า 185.00 บาท) และ KTC (ซื้อ/เป้า 68.00 บาท) อิงตามสัดส่วนสินเชื่อส่วนบุคคล และลูกหนี้ที่จ่ายชำระขั้นต้น จาก 1) รายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงตามปริมาณการช่วยเหลือ และ 2) loan growth มีโอกาสที่ขยายตัวต่ำคาด จาก i. แนวโน้มที่บริษัทจะเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และ ii. มีโอกาสที่ลูกหนี้จะขอเข้ามาเจรจาลดหนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตามเราประเมินลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการจะน้อย และใกล้เคียงกับช่วง COVID ที่เคยให้ความช่วยเหลือเปลี่ยนเป็น Term loan (อายุสัญญา 4 ปี และคิดดอกเบี้ย 12%/22% สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล) ที่อยู่ที่ประมาณ 1-2% ของสินเชื่อรวม เนื่องจากลูกหนี้ที่เข้าร่วมจะโดนยกเลิกวงเงินสินเชื่อ และไม่มีเงินใช้ในยามฉุกเฉินได้
เราคงคำแนะนำกลุ่ม Finance “มากกว่าตลาด” จากแนวโน้ม NPL ที่จะผ่านจุดสูงสุดในต้นไตรมาส 3/66 , credit cost ที่ทยอยลดลง และผลการดำเนินงานจะกลับมาเติบโตดีตั้งแต่ปลายไตรมาส 3/66 โดยเราเลือก TIDLOR (ซื้อ/เป้า 33.00 บาท) เป็น Top pick จากแนวโน้มสินเชื่อที่จะกลับมาขยายตัวสูงตั้งแต่ครึ่งปีหลังปี 66 , NPL ที่จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว และมีระดับสำรองที่สูงถึง 4.2%
สำหรับกลุ่มธนาคาร โดยหุ้นในกลุ่มธนาคารที่จะได้รับผลกระทบเรียงจากมากไปน้อย อิงสัดส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล คือ KTB (23% ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรของราชการ ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าบุคคลธรรมดา), BAY (11%), KBANK (9%), SCB (6%) และ TTB (4%) แต่อย่างไรก็ดี เราคาดว่าประเด็นดังกล่าวจะกระทบต่อกำไรสุทธิในกลุ่มไม่มาก ขณะที่เรายังคงให้น้ำหนักการลงทุนเป็น “มากกว่าตลาด” เลือก BBL (ซื้อ/เป้า 195.00 บาท) และ KTB (ซื้อ/เป้า 21.00 บาท) เป็น Top pick
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ค. 66)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., หนี้ครัวเรือน, เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ