โบรกเกอร์ให้กรอบราคาเหมาะสมหุ้น บมจ.เทอร์ราไบท์ พลัส (TERA) ที่ 2.20-2.70 บาท จากราคาเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ 1.75 บาท มุมมองบทวิเคราะห์ประเมินภาพรวมการเติบโตในทิศทางเดียวกันว่ามีพื้นฐานแข็งแกร่งจากผลประกอบการที่ผ่านมา รวมถึงความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจมีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทำให้ TERA สามารถนำเสนอโซลูชั่นทางเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์มาตรฐานตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาระบบประมวลฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีคุณภาพ
รวมถึงการป้องกันภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ เน้นสร้างรายได้ประจำเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นขยายงานให้บริการด้านบริการระบบ Cloud Services (T.Cloud) ซึ่ง TERA ได้ให้บริการ Gen1 และ Gen2 มาแล้วมากกว่า 7 ปี ที่กำลังจะพัฒนาไปยัง Gen3 ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อการเติบโตของรายได้ TERA
ทั้งนี้ TERA พร้อมเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ในวันที่ 24 เม.ย.67 นี้
บล.บียอนด์ (BYD) ประเมินกำไรสุทธิ CAGR ที่ 21% ในปี 66-68 เพิ่มขึ้นจาก 26 ล้านบาทในปี 65 เป็น 46 ล้านบาทในปี 68 โดยปัจจัยหลัก 1. การขยายตัวของการให้บริการระบบ T.Cloud โดยในปัจจุบันมีสัญญาลูกค้ามากกว่า 100 สัญญา อัตราการรักษาลูกค้าเก่าสูงถึงประมาณ 94% 2. ขยายกลุ่มลูกค้าจากซอฟต์แวร์ Skyfrog และ 3. การเติบโตของอุปกรณ์ไอที
BYD กำหนดราคาเหมาะสมเท่ากับ 2.70 บาทต่อหุ้น ประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ TERA อิง PER ปี 67 ที่ 18 เท่า เชื่อว่าหลังจากเพิ่มทุน IPO แล้ว TERA จะเน้นสร้างรายได้ประจำเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นขยายงานให้บริการด้านบริการระบบ Cloud (T.Cloud) Services ที่กำลังจะพัฒนาไปยัง Gen3
บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) (CGSI) ระบุว่า แผนการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต จะช่วยเพิ่มความสามารถการทำกำไร คาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 66-68 จะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 26.8% ต่อปี
กลยุทธ์การเติบโตหลักที่ TERA มุ่งเน้นในช่วงที่ผ่านมาคือการสร้างรายได้ที่มั่นคงด้วยรายได้ประจำสม่ำเสมอ (หรือ Recurring Income) ซึ่งมีแผนเติบโตจาก 1. การเติบโตภายใน (Organic Growth) อย่างการพัฒนา Cloud Gen3 เพื่อรองรับการเติบโตของฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น การต่อสัญญาซ้ำของลูกค้ามากกว่า 94% ทั้งยังมีธุรกิจให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับโลจิสติกส์อย่าง Skyfrog ช่วยหนุนการเติบโตในอนาคต และ 2. การเติบโตจากภายนอก (Inorganic Growth) โดยบริษัทมีแผนที่จะใช้เงินระดมทุนเพื่อขยายการลงทุนไปยังธุรกิจ SMEs ในกลุ่มไอทีที่มีศักยภาพ และมีโมเดลธุรกิจแบบรายได้ประจำสม่ำเสมอเป็นส่วนใหญ่ เน้นความมั่นคงของการสร้างรายได้ไปพร้อมกับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ CGSI ประเมินมูลค่าเหมาะสมของ TERA ที่ 2.60 บาทต่อหุ้น อิงประมาณการ EPS ในปี 67 ที่ 0.15 บาท อ้างอิง P/E ที่ 17.x เท่า บนค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 5 ปี คาดว่า TERA จะมีกำไรสุทธิ สำหรับปี 66-68 ที่ 26.8%
บล.กรุงศรี พัฒนสิน (KCS) ประเมินมูลค่าพื้นฐานของ TERA ปี 67 ที่ 2.20 บาท ด้วย P/E เป้าหมาย 15.3 เท่า โดยมีจุดเด่นให้บริการ ICT Solution ครอบคลุมทั้ง Hardware และ Software System รวมทั้งเป็นพันธมิตรระดับ Platinum Partner กับ HPE ประกอบกับมีสัดส่วนรายได้ต่อเนื่องสูงเฉลี่ยต่อปีราว 45-50% รวมทั้งฐานะการเงินที่มั่นคง มีโอกาสได้รับงานเพิ่มเติม คาดกำไรสุทธิ 3 ปี ข้างหน้าเติบโตต่อเนื่อง +12% CAGR 66-68
ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) วิเคราะห์ว่า TERA ประเมินมูลค่าเหมาะสมปี 67 อิง PER 15.0 เท่า อยู่ที่ 2.20 บาท คาดกำไรสุทธิปี 66-68 เติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 3 ปี ที่ 28.8% CAGR หนุนจากทั้งรายได้จากการขายและรายได้และจากการให้บริการที่เพิ่มขึ้น
อนึ่ง TERA มีผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย คือ บล.บียอนด์ และ บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) พร้อมผู้ร่วมจัดจำหน่ายฯ อีก 3 แห่ง ได้แก่ บล.ฟินันเซีย ไซรัส บล.กรุงศรี พัฒนสิน และ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 เม.ย. 67)
Tags: T.Cloud, TERA, หุ้นไทย, อุตสาหกรรม, เทอร์ราไบท์ พลัส, เสนอขายหุ้น