โบรกเกอร์ ต่างเชียร์”ซื้อ” บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เป็นการลงทุนระยะยาวที่ธุรกิจฟื้นตัวชัดเจนและพลิกมีกำไรในปี 66 ที่จะเห็นตลาดต่างประเทศเดินทางมากขึ้น โดยปัจจุบัน ผู้โดยสารที่สุวรรณภูมิปรับเพิ่มจากระดับก่อนหน้าการเปิดประเทศที่ราว 2 พันคนต่อวัน ขึ้นเป็นระดับ 4 พันคนต่อวันในเดือนพ.ย.64 ขณะที่เดือนธ.ค.64 มีโอกาสเพิ่มขึ้นอีก 20% MoM ขณะที่ตลาด Domestic บริษัทฯคาดว่าจะกลับมาสู่ระดับ Pre-COVID19 ได้ในอีก 6 เดือนต่อจากนี้ ขณะที่การระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน คาดไม่กระทบการบินไม่มาก
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
---|---|---|
ฟินันเซีย ไซรัส | ซื้อ | 79.00 |
กรุงศรี | ซื้อ | 78.00 |
บัวหลวง | ซื้อ | 75.00 |
ดีบีเอส วิคเคอร์ส | ซื้อ | 75.00 |
เคจีไอ | ซื้อ | 73.50 |
หยวนต้า | ซื้อ | 72.00 |
เอเซียพลัส | ซื้อ | 69.60 |
ส่วนที่คณะกรรมการ AOT อนุมัติมาตรการให้ความช่วยเหลือสายการบิน และผู้ประกอบการเอกชนที่ได้สัมปทานสนามบินทั้ง 6 แห่งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัท ออกไปอีกหนึ่งปี หรือ ถึงเดือนมีนาคม 2566 จากเดิมที่จะสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565 ส่งผลกระทบต่อประมาณการปี 2566 จึงเกิดขึ้นราว 6 เดือน ขณะที่ปี 2564/65 กระทบเต็มปี
ทั้งนี้ ปรับลดประมาณการปี 2564/65 เป็นขาดทุน 2.3 – 7 พันล้านบาทและ ปี 2565/66 เป็นกำไรปกติ 1.1 -2.0 หมื่นล้านบาท คาดกำไรของ AOT จะกลับมาสูงกว่าปีก่อนเกิดโควิด-19 หรือปี 2562 ในปี 2566/67 ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการโอนสนามบินใหม่ทั้งอุดรธานี บุรีรัมย์ และกระบี่ ซึ่งจะเข้าครม.เดือน ม.ค.65
หุ้น AOT ปิดเช้าที่ 59.50 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ดัชนี SET ลบ 0.16%
นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวแนะนำให้ลงทุน AOT ระยะยาว โดยต้องมองยาวไปถึงปี 2566 โดยภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า เพราะผู้โดยสารต่างประเทศ ยังไม่ได้เข้ามากในปีนี้ แต่ก็มาจากผู้โดยสารในประเทศที่ฟื้นตัวได้ในปี 65 แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยตลาดระหว่างประเทศได้
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารระบุว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน น่าจะกระทบการเดินทางไม่มาก จึงยังไม่ได้กระทบตลาดระหว่างประเทศ และจากข้อมูลเบื้องต้น ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน น่าจะทำให้อาการไม่รุนแรง แต่มีความเร็วในการแพร่ระบาด
แนะนำหากราคาย่อตัวเข้าซื้อลงทุนได้ โดยราคาปัจจุบันน่าสนใจ โดยเห็นว่าหากราคาลงมา 56 บาทให้ทยอยซื้อได้ ขณะที่ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 79 บาท นอกจากนี้ ยังมีการโอนสนาบินใหม่ทั้งอุดรธานี บุรีรัมย์และกระบี่ ซึ่งจะเข้าครม.เดือน ม.ค.65
ทั้งนี้ AOT ได้ขยายมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการออกไปถึงมี.ค.66 ทำให้ปรับประมาณการกำไรลงมา โดยคาดผลประกอบการในงบปี 65 (ต.ค.64-ก.ย.65) ขาดทุนลดลงจากงบปีก่อน มาที่ขาดทุน 4.4 พันล้านบาทจากเดิมคาดมีกำไร 900 ล้านบาท และในงบปี 66 (ต.ค.65-ก.ย.66) มีกำไรสุทธิ 2 หมื่นล้านบาท จากเดิมคาดกำไรสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท
ด้านบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จาก AOT มีมาตรการเยียวยาร้านค้าและสายการบินในวันที่ 25 พ.ย. 64 มีสาระสำคัญ ได้แก่ ขยายระยะเวลาการช่วยเหลือร้านค้าและสายการบินจากสิ้นสุด 31 มี.ค. 65 เป็นสิ้นสุด 31 มี.ค. 66 และ หากมีการคิด Minimum Guarantee หรือ Revenue sharing ให้กลับไปใช้ Revenue sharing จนกว่าจะถึงมี.ค.66 ดังนั้นสัญญา Minimum Guarantee Per Head ของ King Power ยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่จะเริ่มนับหนึ่งในวันที่เดือนเม.ย. 66 แทนเดือน เม.ย.65
AOT ให้เหตุผลสำหรับการออกมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมเนื่องจากร้านค้ากว่า 30% ได้ ทยอยยกเลิกกิจการทำให้เกิดพื้นที่ว่างราว 27% ของพื้นที่ทั้งหมด เพิ่มเติมจากก่อนหน้ามีพื้นที่ว่างอยู่แล้ว 26% ดังนั้น ณ สถานการณ์ปัจจุบันผู้ประกอบการร้านค้าเปิดดำเนินการอยู่ที่ราว 47% เท่านั้น สาเหตุหลักเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การเก็บ Minimum Guarantee ต่อไปอีก 1 ปี (หรือกรณีที่ไม่มีมาตรการออกมาเพิ่มเติม) จะทำให้สัดส่วนร้านค้าล้มหายไปมากขึ้น ซึ่งไม่สมเหตุสมผลที่จะเก็บราคาที่สูงแต่ไม่มีลูกค้าจ่ายไหว AOT ประเมินว่าการออกมาตรการจะส่งผลบวกต่อบริษัทฯ มากกว่ากรณีที่ไม่ออกมาตรการราว 3 พันล้านบาทในปี 2564/65 และ 6 พันล้านบาทในปี 2565/66
มาตรการดังกล่าวกระทบกับประมาณของเราและตลาดเพราะ Minimum Guarantee per Head ในราคาประมูลที่สูงถูกเลื่อนการคิดออกไป 1 ปี อย่างไรก็ดีสัญญาของ King Power ไม่ได้หายไปเป็นเพียงการชะลอออกไป 1 ปี แต่เนื่องจากปีปฏิทินของ AOT เริ่มที่เดือนก.ย.65-มี.ค.66 ดังนั้นผลกระทบต่อประมาณการปี 2566 จึงเกิดขึ้นราว 6 เดือน ขณะที่ปี 2564/65 กระทบเต็มปี
ทั้งนี้ ปรับลดประมาณการปี 2564/65 เป็นขาดทุน 7 พันล้านบาทและ ปี 2565/66 เป็นกำไรปกติ 1.1 หมื่นล้านบาท คาดกำไรของ AOT จะกลับมาสูงกว่าปีก่อนเกิดโควิด-19 หรือปี 2562 ในปี 2566/67 ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท
การออกมาตรการรอบนี้เราเชื่อว่าจะเป็นรอบสุดท้ายแล้วสำหรับวิกฤตโควิด-19 และราคาหุ้น ปัจจุบัน ซื้อ ขาย บน EV/EBITDA ที่ 17x ของปีที่ผลประกอบการกลับมาสู่ระดับปกติและเพียง 16x ของปีที่จะเริ่มเห็นผลบวกจากสัญญาของ King Power เต็มตัวในยุค Post COVID-19 น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่อดทนรอการฟื้นตัว 1-2 ปีได้
ส่วนแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจ ผู้โดยสารที่สุวรรณภูมิปรับเพิ่มจากระดับก่อนหน้าการเปิดประเทศที่ราว 2 พันคนต่อวัน ขึ้นเป็นระดับ 4 พันคนต่อวันในเดือนพ.ย.64 ขณะที่เดือนธ.ค.64 มีโอกาสเพิ่มขึ้นอีก 20% MoM ขณะที่ตลาด Domestic บริษัทฯ คาดว่าจะกลับมาสู่ระดับ Pre-COVID19 ได้ในอีก 6 เดือนต่อจากนี้ โดยผลกระทบจากสายพันธุ์โอไมครอน กระทบในเชิง Sentiment การเดินทางแต่มีโอกาสที่การกลายพันธุ์จะทำให้เชื้อโรคลดความรุนแรงลงและเป็นบวกในระยะยาว แต่หากโรคระบาดยังคงรุนแรง AOT มองว่า Downside จากระดับปัจจุบันจำกัดเนื่องจากปัจจุบันบริษัทฯ แทบไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่แล้ว ปรับลดประมาณการ แต่ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ที่ 72.00 บาทต่อหุ้น
สำหรับบล.เคจีไอ (ประเทศไทย)ระบุว่า คณะกรรมการของ AOT อนุมัติมาตรการให้ความช่วยเหลือสายการบิน และผู้ประกอบการเอกชนที่ได้สัมปทานสนามบินทั้งหกแห่งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัท โดยขยายมาตรการเดิม (ได้แก่ ลดค่าสัมปทานที่คิดตามเปอร์เซ็นต์, ค่าธรรมเนียมในการนำเครื่องบินลง และค่าจอดเครื่องบิน, ค่าเช่าสำนักงานและทรัพย์สินของรัฐ) ออกไปอีกหนึ่งปี (ถึงเดือนมีนาคม 2566 จากเดิมที่จะสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565) เนื่องจากสายการบินและผู้รับสัมปทานยังไม่มั่นใจในการฟื้นตัวของธุรกิจการบิน และยังต้องมีค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ในการที่จะกลับมาทำธุรกิจอีกครั้ง
ข่าวนี้เป็นลบต่อแนวโน้มผลประกอบการของ AOT ในช่วงปี FY65-66F เนื่องจากการขยายมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวจะกระทบโดยตรงต่อทั้งรายได้และกำไรสุทธิของบริษัท โดยผลกระทบดังกล่าวจะเกิดในครึ่งหลังปี 65 และ ครึ่งแรกในปี 66 ตามช่วงเวลาที่มีการขยายมาตรการไปถึงเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งเมื่ออิงตามกรอบเวลาใหม่ของมาตรการ คาดว่ารายได้ของ AOT ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการนี้จะลดลงจากประมาณการเดิมอีก 17.2% ใน FY65F และ 13.7% ใน FY66F
ดังนั้น จึงปรับลดประมาณการปี FY65F เป็นขาดทุนสุทธิ 2.3 พันล้านบาท (จากเดิมที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 4.1 พันล้านบาท) และประมาณการปี FY66F เป็นกำไรสุทธิ 1.56 หมื่นล้านบาท (จากเดิม 2.29 หมื่นล้านบาท) คาดว่าการขยายมาตรการดังกล่าวจะทำให้มูลค่าหุ้นของ AOT ลดลงประมาณ 1.0 บาท/หุ้น หรือ 1.3% จากราคาเป้าหมาย DCF เดิมของเราที่ 74.50 บาท นอกจากนี้ เรายังมองว่ามูลค่าหุ้น AOT ตามการประเมินของเราจะมี downside ราว 3% จากระดับเดิม หากมีการต่ออายุมาตรการออกไปสองปี (สิ้นสุดมีนาคม 2567)
ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ประเทศไทยเริ่มกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล เราคิดว่าการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนผลการดำเนินงานโดยรวมของ AOT เนื่องจากทั้งรายได้และอัตรากำไรของกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นในช่วงสองสามปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม เรามีความกังวลต่อสายพันธุ์โอไมครอน จากแอฟริกา ซึ่งจะทำให้ประมาณการของเรามี downside อีก อย่างไรก็ตาม ยังคิดว่าการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนน่าจะยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เนื่องจากได้รับบทเรียนจากการที่โควิด-19 ระบาดในประเทศไทยในรอบก่อน ๆ และมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวแอฟริกันเดินทางเข้ามาประเทศไทยสัดส่วนน้อยมาก
จากประเด็นการพลิกฟื้นของ AOT จึงยังคงคำแนะนำซื้อ และประเมินราคาเป้าหมาย DCF ปี FY65 ใหม่ที่ 73.50 บาท (ใช้ WACC ที่ 9% และ TG ที่ 3%) จากเดิมที่ 74.50 บาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ธ.ค. 64)
Tags: AOT, ท่าอากาศยานไทย, วีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา, สนามบินสุวรรณภูมิ, หุ้นไทย