โบรกฯเชียร์”ซื้อ”KBANK พร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัล-ผลงานปี 64 โตแม้เจอผลกระทบโควิด

10 โบรกฯเชียร์”ซื้อ”หุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เลือกเป็นหุ้น Top pick จากความพร้อมปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการลงทุนด้านดิจิตอลเพื่อสร้าง New S Curve ผ่าน KBTG ที่จะมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น และขยายฐานผู้ใช้งานผ่าน Kplus และช่องทางต่างๆ ของ partner ประกอบกับ ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีของธนาคารจะเป็นปัจจัยหนุนผลการดำเนินงานในระยะยาว

ทั้งนี้ ผลงานของ KBANK ในปีนี้ถือว่ายังดี แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงไปมาก โดยการเติบโตสินเชื่อปี 64 ทำได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มแบงก์ที่มีการเติบโตเฉลี่ย 5% และยังทำได้สูงกว่าเป้าหมายของ KBANK เองที่ 4-6% เพราะ 9 เดือนเติบโตไปแล้วถึง 9% ส่วน NIM ปี 65 ก็จะดีขึ้นมาที่ 3.4% จากปี 64 ทรงตัวที่ราว 3.3%

ตัวเลข NPL ของ KBANK ทำได้ดีเช่นกัน โดยขณะนี้อยู่ที่ 3.85% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 4-4.5% และค่าเฉลี่ย NPL ของกลุ่มแบงก์อยู่ที่ 3.65%

พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิปี 64 ของ KBANK จะอยู่ในช่วง 37,000-38,078 ล้านบาท โต 29-29.1%YoY ขณะที่ปี 65 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 4.3-4.69 หมื่นล้านบาท

ราคาหุ้น KBANK ปิดเที่ยงที่ 142.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท (+1.06%) ส่วนดัชนี SET บวก 0.43%

โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
ดีบีเอส วิคเคอร์ส  ซื้อ 208.00
เอเชียเวลท์   ซื้อ 190.00
หยวนต้า   ซื้อ 180.00
โนมูระ พัฒนสิน   ซื้อ 175.00
ยูโอบี เคย์เฮียน   ซื้อ 172.00
ไทยพาณิชย์   ซื้อ 171.00
เมย์แบงก์ กิมเอ็ง   ซื้อ 170.00
ฟิลลิป   ซื้อ 170.00
เคทีบีเอสที   ซื้อ 168.00
อาร์เอชบี   ซื้อ 165.00

นายเวทิต ตั้งจินดากุล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) ให้เหตุผลของการเลือกหุ้น KBANK เป็น Top pick ว่า เป็นแบงก์ที่ Asset Quality สามารถควบคุมได้ดี และในแง่ Valuation เมื่อเทียบกับ P/BV. ปี 65 ก็แค่ 0.7 เท่า ขณะที่ ROE ปี 65 คิดเป็น 9.5%

ทั้งนี้ KBANK ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 มาก และราคาหุ้นได้ปรับตัวลงไปมากด้วยเช่นกัน แม้จะมีการขายล็อกกำไรแต่ก็ยังทำให้ KBANK สามารถ Outperform กลุ่มแบงก์ได้ อีกทั้ง KBANK พร้อมที่จะปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล แม้ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน แต่ก็รอการเปิดตัว

ในด้านการเติบโตสินเชื่อปี 64 ของ KBANK ทำได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มแบงก์ที่มีการเติบโตสินเชื่อเฉลี่ยโต 5% และยังทำได้สูงกว่าเป้าหมายของ KBANK เองด้วยที่ให้เป้าเติบโตสินเชื่อไว้ 4-6% แต่ 9 เดือน KBANK ทำได้ไปแล้วถึง 9% ส่วน NIM ปี 65 ก็จะดีขึ้นมาที่ 3.4% ขณะที่ปี 64 ทรงตัวจากปี 63 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 3.3%

ตัวเลข NPL ของ KBANK ทำได้ดีเช่นกัน โดยขณะที่ NPL อยู่ที่ 3.85% ต่ำกว่าเป้าหมายของ KBANK ที่ไว้ที่ 4-4.5% ซึ่งค่าเฉลี่ย NPL ของกลุ่มแบงก์อยู่ที่ 3.65%

พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2564 ไว้ที่ 37,000 ล้านบาท เติบโต 26% yoy และปี 2565 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 46,900 ล้านบาท เติบโต 25.7% yoy

ด้านบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า ยังคงมอง KBANK เป็นหุ้นเด่นในกลุ่ม จากทิศทางการฟื้นตัวของผลดำเนินงานในไตรมาส 4/64 และโอกาสในการเติบโตทั้งฝั่ง Traditional Bank ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการลงทุนใหม่ด้านดิจิตอลเพื่อสร้าง New S Curve ผ่าน KBTG ที่จะมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น และขยายฐานผู้ใช้งานผ่าน Kplus และช่องทางต่างๆ ของ partner

กำไรสุทธิ 9 เดือนปี 64 คิดเป็น 73.9% ของประมาณการทั้งปี โดยยังคงประมาณการเดิม โดยคาดผลดำเนินงานในไตรมาส 4/64 จะฟื้นตัวขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจในประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น หลังภาครัฐฯ ปลดล็อคกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดหนุนให้รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิปรับตัวขึ้นต่อ จากทั้ง NIM ที่ค่อยๆ ขยับขึ้นตามสัดส่วนสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น สินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อดิจิตอล ที่คาดจะขยายตัวได้ดีในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมที่จะปรับตัวดีขึ้นสอดรับไปกับธุรกรรมการให้สินเชื่อ และการขายประกัน หรือหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดิม

ขณะที่การตั้งสำรองคาดเริ่มผ่อนคลายลงจากไตรมาส 3/64 หลังตัวเลข NPL ทรงตัวในระดับที่บริหารจัดการได้ จึงคงคาดทั้งปี 2564 KBANK จะมีกำไรสุทธิราว 38,078 ล้านบาท โต 29.1%YoY

ส่วนบล.เอเชียเวลท์ ระบุว่า แนวโน้มการเติบโตของผลประกอบการในปี 65 และโอกาสของการปรับโครงสร้างองค์กรให้เข้ากับยุคดิจิทัลมากขึ้น ประกอบกับความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีของธนาคารจะเป็นปัจจัยหนุนผลการดำเนินงานในระยะยาว โดยล่าสุดได้มีการเปิดตัว บริษัท KASIKORN X จำกัด หรือ KX ภายใต้ KBTG เพื่อมุ่งเน้นสร้างธุรกิจด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา แม้ว่าในระยะสั้นจะยังไม่มีนัยยะสำคัญต่อผลประกอบการ แต่เป็นสัญญาณของการปรับตัวต่อโลกดิจิทัลที่เข้ามาถึงอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ คาดแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4/64 ทั้งลดลง QoQ และ YoY โดยสาเหตุการปรับลดลง YoY เนื่องจากฐานที่สูงในไตรมาส 4/64 ที่มีการตั้งสำรองในระดับต่ำ ในขณะที่การปรับตัว QoQ มาจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามปัจจัยด้านฤดูกาล อย่างไรก็ดี คาดว่าผลกระทบดังกล่าวค่อนข้างจำกัดตามรายได้ดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากพอร์ตสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องส่งผลให้คาดว่ากำไรสุทธิ QoQ จะชะลอตัวเพียงเล็กน้อย

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการปี 65 เป็นบวก จากรายได้ดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องจากการขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่องของธนาคาร, แนวโน้มการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจตามการผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ให้ค่าใช้จ่ายตั้งสารองมีแนวโน้มที่ลดลง และการเริ่มรับรู้รายได้ค่าตอบแทนจากการให้สิทธิฯ จาก บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) จำนวน 1,270 ล้านบาท ที่ได้ทำสัญญาไว้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 64 ทำให้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 65 มาอยู่ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,