โบรกเกอร์ต่างเชียร์ “ซื้อ” หุ้น บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) คาดผลงาน Q4/64 มีแนวโน้มฟื้นตัวโดดเด่นจากรายได้โฆษณาที่ดีขึ้นต่อเนื่อง หลังโควิด-19 คลี่คลาย ขณะที่รายได้ Digital Platform และการขายลิขสิทธิ์ขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น รวมไปถึงแผนการควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพหนุนกำไรทั้งปี 64 พลิกฟื้นโดดเด่นจากปีก่อนที่ขาดทุน
สำหรับผลประกอบการปี 65 ยังคงเติบโตต่อเนื่องจากธุรกิจหลัก และธุรกิจใหม่อย่างเพลงและภาพยนตร์ ซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญที่จะนำพาธุรกิจของ BEC เติบโตได้อย่างมั่นคง
ราคา BEC ปิดเที่ยงที่ 14.50 บาท ปรับขึ้น 0.30 บาท (+2.11%) ขณะที่ดัชนี SET บวก 0.33%
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
---|---|---|
ทิสโก้ | ซื้อ | 16.50 |
โนมูระ พัฒนสิน | ซื้อ | 16.40 |
หยวนต้า | ซื้อ | 16.20 |
ธนชาต | ซื้อ | 16.00 |
เอเซียพลัส | ซื้อ | 16.00 |
ฟินันเซีย ไซรัส | ซื้อ | 15.00 |
ฟิลลิป | ซื้อ | 15.00 |
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นของ BEC โดยคาดการณ์กำไรไตรมาส 4/64 ฟื้นตัวค่อนข้างเด่น อยู่ที่ 261 ล้านบาท +82%QoQ จากปัจจัยหนุนของรายได้โฆษณาที่ยังคงดีขึ้นต่อเนื่อง จากรายการข่าวที่ได้รับความนิยมสูงอย่าง เรื่องเล่าเช้านี้ และ โหนกระแส ส่วนละครแม้จะเป็นละครรีรันแต่ก็ทำเรตติ้งได้ดี ขณะที่รายได้ลิขสิทธิ์และอื่น ๆ ก็มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน รวมไปถึงการควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็เป็นแรงสนับสนุนให้หุ้น BEC น่าจะมีผลประกอบการช่วงไตรมาส 4/64 ที่เติบโตโดดเด่น
สำหรับผลประกอบการช่วงไตรมาส1/65 แม้จะมีแนวโน้มอ่อนตัวตามปัจจัยฤดูกาล แต่ยังคงคาดรายได้ทั้งปีเติบโต หนุนกำไรสุทธิในปี 65 ขยับขึ้นไปที่ 994 ล้านบาท เติบโต +37%YoY จากการฟื้นตัวของรายได้โฆษณา หลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับรายได้ลิขสิทธิ์และอื่น ๆ คาดเติบโต +33%YoY จากการรุกตลาดขายลิขสิทธิ์ละครในประเทศใหม่ ๆ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังรุกธุรกิจใหม่ เช่น เพลง ภาพยนตร์ และ บริหารศิลปิน ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มราคาเป้าหมายขึ้นจาก 12.80 บาท/หุ้น เป็น 16.40 บาท/หุ้น
ด้าน บล.หยวนต้า ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดกำไรปกติปี 64 ที่ 692 ล้านบาท พลิกฟื้นโดดเด่นจากปีก่อนที่มีผลขาดทุนปกติ 127 ล้านบาท จากเม็ดเงินโฆษณาที่ฟื้นจากฐานที่ต่ำ พบว่าสื่อทีวีดิจิทัล ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยกว่าสื่อโฆษณาอื่น ๆ เนื่องจากคนอยู่บ้านดูทีวีมากขึ้น รวมถึงการปรับผังรายการใหม่ที่เพิ่มเวลาละครและรายการข่าวมากขึ้น โดยเฉพาะรายการข่าวหลังมีนายสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา กลับเข้ามาจะเพิ่มรายได้สำหรับรายการเรื่องเล่าเช้านี้และเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์รวมกันมากกว่า 50% ขณะที่รายได้จาก Digital Platform และการขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ไปต่างประเทศเติบโตจากการขยายประเทศใหม่ ๆ มากขึ้น จากเดิมจีน ไปยังสิงคโปร์ และ มาเลเซีย และขายลิขสิทธิ์ให้ทาง Netflix เพิ่มขึ้น
อีกทั้งผลจากนโยบายควบคุมต้นทุน โดยการปรับโครงสร้างองค์กรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งการลดต้นทุนการผลิต และการปรับลดพนักงาน จะส่งผลบวกต่อเนื่องในปีนี้ อีกทั้งยังได้รับผลบวกจากมาตรการช่วยเหลือจาก กสทช. ที่ได้รับยกเว้นค่าเช่าโครงข่าย MUX เต็มปี
พร้อมประมาณการกำไรสุทธิปี 65 ที่ 906 ล้านบาท +31% YoY ซึ่งคาดรับผลบวกจากอุตสาหกรรมโฆษณาฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่คาดว่าจะเริ่มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น ตั้งแต่ในไตรมาส 2/65 ผู้ประกอบการกลับมาใช้งบโฆษณามากขึ้น ขณะที่คาดว่ารายได้จากการขายลิขสิทธิ์ (Global Content Licensing) ไปยังตลาดต่างประเทศจะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ปีนี้มีแผนในการรุกธุรกิจเพลง ด้วยการส่งนักแสดงที่มีศักยภาพทางด้านเพลงขึ้นแท่นเป็นศิลปินเพลงเต็มตัว ประเดิมคนแรกคือ แต้ว ณฐพร เตมีรักษ์ และคาดว่าจะมีต่อเนื่องจากนี้ ซึ่งจะช่วยต่อยอดธุรกิจของบริษัท จึงคาดการรายได้ปี 65 ปรับเพิ่มขึ้น 15% YoY เป็น 7,244 ล้านบาท
สำหรับบล.เอเซียพลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผลประกอบการปี 65 สามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากธุรกิจหลัก หลังการขายโฆษณาคาดจะเติบโตจากเม็ดเงินโฆษณาที่เริ่มเห็นการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4/64 เป็นต้นไป และอัตราการใช้สื่อที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากเรทติ้งข่าวและละครที่ได้รับการตอบรับที่ดี รวมไปถึงการปรับราคาขายโฆษณาจากรายการข่าว 6-7 รายการ
รวมไปถึงธุรกิจ Global Content Licensing ที่มีแผนจะ Simulcast ละครเรื่อง พิศวาสฆาตเกมส์ และ คุณหมีปาฎิหารย์ผ่าน Netflix พร้อมฉายใน 25 ประเทศทั่วเอเชีย ละครเรื่อง ยมฑูตกับภูติสาว ที่จะ Simulcast ผ่าน Viu ฉายในประเทศอินโดนิเซีย รวมถึงธุรกิจ Digital Revenue ที่จะเติบโตจากจำนวน Subscriber จากทั้งช่องทางแอพพลิเคชั่น 3+ และ 3+Premium รวมถึงช่องทางออนไลน์ทั้ง Facebook และ Youtube
และธุรกิจเพลง ได้เปิดตัวศิลปินรายแรกคือ “แต้ว ณฐพร เตมีรักษ์” ช่วงกลางเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ภายใต้เพลง “BABYBOO” ได้รับผลตอบรับที่ค่อนข้างดี โดยมียอด View ใน Youtube กว่า 3 ล้านวิว และคาดจะเปิดตัวศิลปินเพิ่มอีก 2-3 ราย ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งธุรกิจเพลงสามารถเติมเต็ม Ecosystem ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อาทิ ศิลปินที่ได้รับความนิยมจากเพลงที่ปล่อยออกมา สามารถนำไปหารายได้ส่วนเพิ่มจากช่องทางอื่น ๆ จากการโปรโมทสินค้า การขายสินค้าที่มีศิลปินมีส่วมร่วม การจัดกิจกรรมในรูปแบบ Fan Meeting เป็นต้น
นอกจากนี้ธุรกิจภาพยนตร์ คาดจะทำในลักษณะร่วมทุน (Joint Venture) ในปี 65 คาดจะเปิดตัว 2-3 เรื่อง ฝ่ายวิจัยประเมินธุรกิจภาพยนตร์จะเป็นอีกปัจจัยขับเคลื่อนหลักให้ผลประกอบการสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตั้งเป้ารายได้ปีละ 100 ล้านบาท โดยจะประกาศอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้
อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยมองว่าถึงแม้ธุรกิจเพลงและธุรกิจภาพยนตร์จะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะเห็นการเติบโตที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จากฐานรายได้ที่ต่ำในช่วงแรก โดยประเมินรายได้ของทั้ง 2 ธุรกิจรวมกันจะคิดเป็นสัดส่วน 10% ของรายได้รวมของ BEC ซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญที่จะนำพาธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.พ. 65)
Tags: BEC, กรภัทร วรเชษฐ์, บีอีซี เวิลด์, หุ้นไทย