โบรกมอง ครม.ผ่านร่างพ.ร.ก.รองรับเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% กระทบ DELTA-TU

ฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส (FSSIA) ระบุถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่างพระราชกำหนด 2 ฉบับเพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ตามแนวทาง Global minimum tax ของ OECD ประกอบด้วย พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม และ พ.ร.ก.แก้ไขเกณฑ์กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยจะเริ่มบังคับใช้ในปี 68 เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสร้างความชัดเจนให้นักลงทุนต่างชาติในการเลือกเสียภาษี คาดว่าจะสร้างรายได้ให้ประเทศมากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี มองผลกระทบ DELTA,TU ส่วน STA,CPF กระทบจำกัด

FSSIA ระบุว่า ถือเป็นหลักการทางภาษีระดับโลกตามเกณฑ์ของ OECD โดยมีประเทศที่เข้าร่วมมากกว่า 100 ประเทศแล้ว และการอนุมัติครั้งนี้ถือเป็นการปฏิรูปกฎหมายภาษีนิติบุคคลไทยด้วยแนวทางจัดเก็บภาษีนิติบุคคลต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยขั้นต่ำ 15% เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันระดับโลก

เกณฑ์การจัดเก็บ GMT 15% ของไทยที่ปัจจุบันได้สิทธิพิเศษ BOI ทำให้อัตราภาษีที่แท้จริงต่ำกว่า 15% จึงต้องถูกจัดเก็บภาษีเพิ่ม สำหรับบริษัทที่มีรายได้รวมเกิน 750 ล้านยูโรต่อปี (หรือราว 2.6 หมื่นล้านบาท)

สำหรับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มอาหารใน coverage ของ FSSIA บริษัทที่เข้าเกณฑ์ และอาจต้องถูกจัดเก็บ GMT เพิ่มเป็น 15% ได้แก่ DELTA, TU และ STA ส่วน CPF ไม่กระทบเพราะจ่ายภาษีเกิน 15% อยู่แล้ว และมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ภาษีต่ำกว่า 15%

DELTA ปัจจุบันเสียภาษีในอัตรา 2% ส่วนใหญ่เป็นฐานรายได้จากในไทยเป็นหลัก แม้มีฐานผลิตที่อินเดียและสโลวาเกีย แต่สัดส่วนของกำไรที่ต้องเสียภาษีน้อยมาก ดังนั้นกรณีกำหนดให้ภาษีเพิ่มเป็น 15% จะกระทบต่อกำไรทั้งปีที่ 13%

TU ปัจจุบันทั้งกลุ่มเสียภาษีในอัตรา 7.6% โดยฐานภาษีในประเทศอื่นเกิน 15% อยู่แล้ว มีเพียงฐานรายได้ในไทยที่ปัจจุบันได้ BOI อาจถูกกระทบในส่วนนี้ กรณีภาษีขึ้นเป็น 15% คาดทำให้อัตราภาษีของ TU ขยับขึ้นเป็น 11.3% จะกระทบต่อกำไรทั้งปีราว 5.7%

STA เราใช้สมมติฐานอัตราภาษีสำหรับปี 68 อยู่ที่ 12% ดังนั้นหากถูกปรับขึ้นเป็น 15% (กำหนดให้ปัจจัยอื่นคงที่) จะกระทบกำไรทั้งปีเพียง 3.6% ถือว่าจำกัด

ขณะที่หลังจากนี้รัฐบาลต้องเสนอ พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนของสภาฯต่อไป เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปี 68 อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการประเมินเบื้องต้น ยังต้องติดตามรายละเอียดวิธีการคำนวณของภาครัฐ รวมถึงแนวทางการช่วยเหลืองหรือการผ่อนปรนของ BOI ด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ธ.ค. 67)

Tags: , , , , , ,