นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แสดงความห่วงใยประชาชนในพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากพายุที่จะเข้าประเทศไทย หลังได้รับรายงานการวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศและการคาดการณ์ฝนของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พบว่า สถานการณ์พายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” บริเวณประเทศลาวปะทะกับความกดอากาศสูงแล้วอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วและสลายตัวไป
ส่วนพายุโซนร้อน “คมปาซุ” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกใกล้ประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนที่ทางตะวันตกผ่านแนวประเทศจีนตอนใต้ ส่งผลให้ปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาเกิน 90 มิลลิเมตร ที่จังหวัดตราด สกลนคร มุกดาหารและหนองคาย และมีหลายพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินโคลนถล่ม จากฝนตกหนักมากกว่า 90 มิลลิเมตร ดังนี้ ภาคเหนือ (น่าน เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ชัยภูมิ ขอนแก่น เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อุดรธานี สกลนคร) ภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) และภาคใต้ (ระนอง พังงา)
โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน พร้อมกำชับให้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศ และใช้ในการบัญชาการสถานการณ์และแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการนำแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น Line มาใช้เป็นช่องทาง เพิ่มเพื่อสื่อสารข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณภัยให้เข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็วและครอบคลุมด้วย
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ในวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม 2564 นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ มีกำหนดการลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงเรียนวัดป่าศรีแสงธรรม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนได้บูรณาการเรื่องสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับบริบทของชุมชนคือพลังงานและการเกษตร จนเป็นที่รู้จักในนามโรงเรียนพลังงานทดแทนต้นแบบ และศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา โดยได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อ โครงการพระราขทานโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง (วัดป่าศรีแสงธรรม) และนายกรัฐมนตรีจะติดตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำ อุบลราชธานี-โขงเจียมด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 64)
Tags: กระทรวงมหาดไทย, คมปาซุ, ธนกร วังบุญคงชนะ, น้ำท่วมฉับพลัน, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พายุโซนร้อน, สทนช., ไลออนร็อก