น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ผลการมอนิเตอร์สถานการณ์ข่าวปลอมในช่วงระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-5 พ.ค.65 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบว่ามีการนำข่าวปลอมเก่ามาแพร่กระจายซ้ำหลายข่าว โดยใช้ประเด็นบิดเบือนที่ดึงดูดความสนใจ โดยเฉพาะข่าวในกลุ่มนโยบายรัฐและข่าวสารราชการ
ทั้งนี้ อยากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อหรือส่งต่อข่าวปลอมเหล่านี้ ซึ่งหลายเรื่องเคยได้รับคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปีก่อนหน้าแล้วว่าเป็นข่าวปลอม แต่เมื่อถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำก็ยังเป็นที่สนใจ โดยมีจำนวนถึง 6 ข่าวที่ติดกลุ่มอยู่ในการจัดอันดับข่าวที่มีคนสนใจมากสุด 10 อันดับประจำสัปดาห์
โดยอันดับข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจ 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 เรื่องผลิตภัณฑ์ Veta-D ช่วยบำรุงสายตา ลดอาการต้อลม ต้อเนื้อ ตามัว และแพ้แสง อันดับ 2 เรื่องบรรจุอิสลามศึกษาเข้าทุกโรงเรียน เพราะเป็นกฎกระทรวง (เป็นข่าวเก่าตั้งแต่เดือน ส.ค.63) อันดับ 3 เรื่องอนุมัติงบประมาณสร้างสะพานจันทร์โอชา เชื่อมระหว่าง อ.ขนอมกับเกาะสมุย อันดับ 4 เรื่องผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพถูกกรมการขนส่งทางบกยึดใบขับขี่และเรียกสอบใหม่ (เป็นข่าวเก่าตั้งแต่เดือน ส.ค.63) อันดับ 5 เรื่อง ศธ. ห้ามนักเรียนใส่หน้ากากอนามัยแบบมีลวดลาย (เป็นข่าวเก่าตั้งแต่ มิ.ย. 63)
อันดับ 6 เรื่องรับวัคซีนเข็ม 4 แบบแปะฉีดตัวเองที่บ้านจะกลายเป็นคนติดยา อันดับ 7 กัญชาคั้นสดไม่ออกฤทธิ์ต่อประสาท ป้องกันและรักษาโรคได้ดีกว่าสารสกัดกัญชา (เป็นข่าวเก่าตั้งแต่เดือน ก.ค.63) อันดับ 8 เรื่องสภากาชาดไทยจำหน่ายเลือดที่ได้จากการบริจาคฟรี ให้กับโรงพยาบาล (เป็นข่าวเก่าตั้งแต่เดือน ส.ค.64) อันดับ 9 เรื่อง ประกาศจัดตั้งจังหวัดใหม่เพิ่มอีก 7 จังหวัด ทำให้ประเทศไทยมี 84 จังหวัด (เป็นข่าวปลอมครั้งแรกเมื่อปี 58 และต่อมาเดือน ต.ค.64 ถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำ โดยเปลี่ยนตัวเลขรวมเป็น 83 จว.) และอันดับ 10 เรื่อง นายกฯ ให้ตรึงราคาน้ำมันเครื่องบิน โดยไม่เก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน ลิตรละเกือบ 5 บาทต่อไป
สำหรับภาพรวมการรับแจ้งและเบาะแสข่าวปลอมในรอบสัปดาห์ล่าสุดนี้มีจำนวนข้อความที่เข้ามา 11,651,018 ข้อความ คัดกรองแล้วพบข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 257 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 124 เรื่อง โดยประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว จำนวน 53 เรื่อง
“ขอความร่วมมือจากประชาชนในการแก้ปัญหาข่าวปลอม เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียล ควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ สอบถามโดยตรงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87” น.ส.นพวรรณ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ค. 65)
Tags: lifestyle, ข่าวปลอม, ดีอีเอส, นพวรรณ หัวใจมั่น