โกลด์แมน แซคส์ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐในปี 2566 โดยระบุว่าวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลางของสหรัฐได้สร้างแรงกดดันต่อระบบการเงินเป็นวงกว้าง
ทีมนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ซึ่งนำโดยเดวิด เมริเคิล และมานูเอล อาเบคาซิส ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2566 ลง 0.3% สู่ระดับ 1.2% ภายใต้สมมติฐานที่ว่า ธนาคารขนาดเล็กในสหรัฐจะพยายามรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอ หากเกิดกรณีที่ผู้ฝากเงินต้องการจะถอนเงินออกจากบัญชีธนาคาร ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานการปล่อยเงินกู้ของธนาคารให้มีความเข้มงวดมากขึ้น
นักวิเคราะห์มองว่า การกำหนดมาตรฐานการปล่อยกู้ให้เข้มงวดมากขึ้นนั้น จะส่งผลกระทบต่อความต้องการกู้ยืมเงิน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจสหรัฐที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากการดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
“ธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลางมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐ ผลกระทบที่เกิดจากการปล่อยเงินกู้ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม จะสร้างความเสียหายต่อธนาคารในกลุ่มนี้”นักวิเคราะห์กล่าว
โกลด์แมน แซคส์ยังระบุด้วยว่า ธนาคารที่มีสินทรัพย์น้อยกว่า 2.50 แสนล้านดอลลาร์นั้นมีสัดส่วนราว 50% ของการปล่อยกู้ให้กับภาคการค้าและอุตสาหกรรมในสหรัฐ, มีสัดส่วน 60% ของการปล่อยกู้ให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย, มีสัดส่วน 80% ของการปล่อยกู้ให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ และมีสัดส่วน 45% ของการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มผู้บริโภค
ทั้งนี้ โกลด์แมน แซคส์ตั้งสมมติฐานว่า ธนาคารขนาดเล็กที่มีเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองจากบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) อยู่ในระดับต่ำนั้น จะลดการปล่อยเงินกู้ใหม่ลงถึง 40% ซึ่งจะส่งผลให้การปล่อยกู้โดยรวมในระบบธนาคารลดลง 2.5%
โกลด์แมน แซคส์ระบุว่า ผลกระทบของการคุมเข้มการปล่อยเงินกู้นั้น จะมีผลกระทบต่อการเติบโตของอุปสงค์เช่นเดียวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25-0.50%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 66)
Tags: GDP สหรัฐ, ธนาคาร, เศรษฐกิจสหรัฐ, โกลด์แมน แซคส์