กลุ่มธนาคารพาณิชย์ตะวันตกรายใหญ่ที่ยังคงดำเนินงานในรัสเซียได้จ่ายภาษีให้รัฐบาลรัสเซียกว่า 800 ล้านยูโรในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครน แม้ธนาคารพาณิชย์ตะวันตกเหล่านี้ได้ให้สัญญาว่าจะลดการทำธุรกิจในรัสเซียก็ตาม
ธนาคารพาณิชย์ยุโรปรายใหญ่ที่สุด 7 แห่งเมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ที่ยังคงดำเนินงานอยู่ในรัสเซียประกอบด้วย ไรฟ์ไฟเซน แบงก์ อินเตอร์เนชันแนล (Raiffeisen Bank International), ยูนิเครดิต (UniCredit), ไอเอ็นจี (ING), คอมเมิร์ซแบงก์ (Commerzbank), ดอยซ์แบงก์ (Deutsche Bank), อินเตซาซันปาโอโล (Intesa Sanpaolo) และโอทีพี (OTP) โดยทั้งหมดมีกำไรรวมกันกว่า 3 พันล้านยูโรในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2564 โดยส่วนหนึ่งมาจากเงินทุนที่ธนาคารเหล่านี้ไม่สามารถถอนออกจากรัสเซีย
การวิเคราะห์ของไฟแนนเชียล ไทม์ส แสดงให้เห็นว่า กำไรที่พุ่งขึ้นทำให้ธนาคารพาณิชย์ยุโรปเหล่านี้ต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาลรัสเซียประมาณ 800 ล้านยูโรในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านยูโรในปี 2564 นอกจากนี้ กลุ่มธนาคารพาณิชย์สหรัฐ เช่น ซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) และเจพีมอร์แกน (JPMorgan) ต่างก็มีกำไรเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ ภาษีที่ธนาคารพาณิชย์ยุโรปจ่ายให้รัฐบาลรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.4% ของรายได้งบประมาณนอกกลุ่มพลังงานที่ประมาณการไว้สำหรับปี 2567 ของรัสเซีย ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทต่างชาติที่ยังคงดำเนินงานอยู่ในรัสเซียมีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้กับรัฐบาลรัสเซียแม้รัสเซียจะถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรก็ตาม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 67)
Tags: ธนาคารพาณิชย์, รัสเซีย