ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ได้ออกมาเตือนความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อขาขึ้น และส่งสัญญาณว่า RBA ต้องการเห็นหลักฐานว่าดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย
นายคริสโตเฟอร์ เคนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ RBA ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมอุตสาหกรรมการธนาคารซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเมลเบิร์นในวันนี้ โดยย้ำว่า ในขณะที่นโยบายการเงินของ RBA ยังคงอยู่ในระดับที่คุมเข้ม การจะตัดสินใจขยายเวลาในการดำเนินนโยบายดังกล่าวออกไปนานเท่าใดนั้นยังคงไม่ชัดเจนในขณะนี้ พร้อมกับแสดงแผนภูมิให้ที่ประชุมเห็นว่า มีโอกาส 3.5% ที่ RBA จะปรับอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับปกติ หรือระดับที่จะไม่กระตุ้นและไม่ทำให้อุปสงค์อยู่ในภาวะชะงักงันในเวลาเดียวกัน
เมื่อผู้เข้าร่วมประชุมถามว่า RBA จะใช้ปัจจัยใดในการพิจารณายุติการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน นายเคนท์กล่าวว่า “เราต้องการเห็นหลักฐานว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อชะลอตัวลงอีก ข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวน ซึ่งทำให้เราจำเป็นต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะอยู่ในภาวะขาขึ้น”
นายเคนท์กล่าวว่า การที่ RBA ดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินกำลังส่งผลให้อุปสงค์ชะลอตัวลง แต่ข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาบ่งชี้ถึงความไม่สอดคล้องกันในแต่ละภาคส่วน
การแสดงความเห็นของนายเคนท์มีขึ้นในวันเดียวกับที่สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้นแตะระดับ 4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าในเดือนเม.ย.ที่ปรับตัวขึ้น 3.6% และสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.8%
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ที่ไม่นับรวมราคาสินค้าที่มีความผันผวน เช่น เชื้อเพลิง อาหารสด และการใช้จ่ายช่วงวันหยุดนั้น ชะลอตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 4% ในเดือนพ.ค. จากระดับ 4.1% ในเดือนเม.ย. แต่ตัวเลขดังกล่าวยังสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อรายปีที่ RBA กำหนดไว้ในกรอบ 2%-3%
ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อที่ขยายตัวมากกว่าคาดทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า RBA อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 5-6 ส.ค.นี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มิ.ย. 67)
Tags: ธนาคารกลางออสเตรเลีย, ออสเตรเลีย, เงินเฟ้อ