แบงก์ชาติจ่อออกมาตรการด่วนช่วยลูกหนี้น้ำท่วมหนักภาคเหนือภายในสัปดาห์นี้

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ในจังหวัดภาคเหนือส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจนั้น ภายในสัปดาห์นี้ ธปท. เตรียมออกหนังสือเวียนเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้

ภายใต้มาตรการช่วยเหลือจะมีการผ่อนผันเกณฑ์ให้บางส่วน ได้แก่

1. พิจารณาให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียน ในการซ่อมแซ่มที่อยู่อาศัย หรือประกอบธุรกิจ

2. ปรับเกณฑ์อัตราชำระขั้นต่ำ (Min Pay) บัตรเครดิตลงให้ต่ำกว่าอัตรา 8% เป็นระยะเวลา 1 ปี

3. ผ่อนผันให้สามารถขยายวงเงินฉุกเฉินชั่วคราวเพื่อการดำรงชีพ สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบุคคลดิจิทัล

“ตอนนี้ คงยังไม่สามารถประเมินผลกระทบจากน้ำท่วมได้ เพราะบางพื้นที่น้ำยังท่วมอยู่ และบางที่พื้นที่น้ำแห้งแล้ว แต่ภายในสัปดาห์นี้ เราจะออกหนังสือเวียนให้แบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์ ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย” น.ส.สุวรรณี ระบุ

ด้านนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และการดำรงชีพของลูกค้าประชาชนในพื้นที่เป็นวงกว้าง โดยภาคธนาคารมีความห่วงใยและพร้อมเคียงข้างผู้ประสบภัยน้ำท่วม จึงเร่งออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่น้ำท่วม ครอบคลุมการลดภาระในการผ่อนชำระหนี้สิน และการสนับสนุนทางการเงินเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย

สมาคมฯ ได้ประสานธนาคารสมาชิกในการให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างเร่งด่วน ซึ่งบางธนาคารได้มีมาตรการรองรับอยู่แล้ว ขณะที่ธนาคารอื่น ๆ พร้อมพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างเหมาะสม โดยแต่ละธนาคารจะพิจารณาความช่วยเหลือให้สอดคล้องสถานการณ์ของลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจ และดำรงชีพต่อไปได้อย่างปกติโดยเร็ว

ทั้งนี้ เงื่อนไขและเกณฑ์การพิจารณาลูกค้าแต่ละราย เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่แต่ละธนาคารกำหนด

สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม สามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ที่ธนาคารที่เป็นลูกค้า ผ่านทางสาขา เจ้าหน้าที่ หรือฝ่ายงานที่ดูแลสินเชื่อ หรือ Call Center ของแต่ละธนาคารได้ทันที

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ส.ค. 67)

Tags: , , , ,