แบงก์ชาติจีนออกโรงวิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาล เตือนผลกระทบภาวะเงินฝืด

นายหวง ยี่ปิง หนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีน (PBOC) และนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของจีนได้ออกบทความวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนว่าเป็นนโยบายเชิงอนุรักษ์นิยมมากเกินไป พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยนับเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ PBOC จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างบทความของนายหวงว่า นโยบายที่มุ่งเน้นการลงทุนแต่กลับละเลยการอุปโภคบริโภคนั้น ควรได้รับการเปลี่ยนแปลง และรัฐบาลควรใช้มาตรการกระตุ้นการอุปโภคบริโภค เช่น การอนุญาตให้แรงงานอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองต่าง ๆ และการแจกเงินโดยตรงให้แก่ประชาชน

“เศรษฐกิจได้เข้าสู่ฉากทัศน์ใหม่แล้ว และอุปสงค์โดยรวม ซึ่งรวมถึงการอุปโภคบริโภค การส่งออก และแม้แต่การลงทุนนั้น ไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป และในความเป็นจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้กำลังกลายเป็นความท้าทายใหม่ต่อนโยบายเศรษฐกิจมหภาค” นายหวงกล่าว

เศรษฐกิจจีนเผชิญกับความยากลำบากในการรักษาการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในปีนี้ โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ไตรมาส เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อ่อนแอลงนั้นได้บดบังการส่งออกที่แข็งแกร่ง ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เคลื่อนไหวใกล้ระดับ 0% เป็นเวลานานหลายเดือน ซึ่งบ่งชี้ว่าจีนยังคงเผชิญกับแรงกดดันของเงินฝืด

นอกจากนี้ นายหวงได้สนับสนุนให้รัฐบาลจีนกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการผลักดันดัชนี CPI ให้ดีดตัวขึ้นแตะระดับ 2%-3% และปรับปรุงนโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายนี้ โดยเขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการชี้นำแนวทางการคาดการณ์ของตลาด ซึ่งที่ผ่านมานั้น ทางการจีนมองว่าอัตราเงินเฟ้อสูงถือเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจ และมักจะกำหนดเป้าหมายให้จำกัดเพดานการขยายตัวของดัชนี CPI รายปีไว้ที่ 3% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

“เศรษฐกิจจีนในขณะนี้ชะลอตัวลงได้ง่าย แต่ทำให้แข็งแกร่งขึ้นได้ยาก และถ้าหากเศรษฐกิจตกอยู่ในกับดักของภาวะเงินเฟ้อต่ำจริง ๆ แล้วละก็ ผลที่เกิดขึ้นตามมาจะร้ายแรงมาก”

นายหวงกล่าว

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2567 ของจีนขยายตัวเพียง 4.7% ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.1% และชะลอตัวจากไตรมาส 1/2567 ที่มีการขยายตัว 5.3%

ส่วนดัชนี CPI เดือนมิ.ย.ของจีนปรับตัวขึ้นเพียง 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนพ.ค.ที่เพิ่มขึ้น 0.3% และต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะเพิ่มขึ้น 0.4% เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนส่งผลให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ส.ค. 67)

Tags: , ,