ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศปรับตำแหน่งในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลาง โดยได้เชิญนายอู๋ ชิง ผู้อำนวยการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จีน (CSRC) และนายฉวน ฉางเหนิง รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน เข้ามาร่วมทีมคณะกรรมการของ PBOC ด้วย
แถลงการณ์ของ PBOC ซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อวานนี้ (19 มี.ค.) ระบุว่า นายอู๋ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ CSRC เมื่อเดือนที่แล้วนั้น จะเข้ามาเป็นกรรมการ PBOC แทนนายอี้ หุ้ยมาน
นอกจากนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินซึ่งมีนายพาน กงเซิ่ง ผู้ว่าการ PBOC เป็นประธานนั้น ยังได้เชิญนักวิชาการรายใหม่ 2 รายเข้ามาร่วมทีม ซึ่งได้แก่นายหวง ยี่ปิง จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และนายหวง ไห่โจว จากมหาวิทยาลัยชิงหัว
ทั้งนี้ นายหวง ยี่ปิง ซึ่งจบปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) และเคยทำงานที่ธนาคารซิตี้กรุ๊ปและบาร์เคลย์สนั้น เป็นคณบดีประจำวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาแห่งชาติในสังกัดมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University’s National School of Development) นอกจากนี้ นายหวงยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการกำหนดนโยบายของ PBOC ในช่วงปี 2558 – 2561
ส่วนนายหวง ไห่โจว นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งศึกษาในสหรัฐนั้น เคยดำรงผู้บริหารอาวุโสของธนาคารไชน่า อินเทอร์เนชันแนล แคปิตอล คอร์ปอเรชัน (CICC) และเคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) และวิทยาลัยเศรษฐกิจกรุงลอนดอน (London School of Economics)
ทั้งนี้ นายหวง ไห่โจว และนายหวง ยี่ปิง จะเข้ามาร่วมทีมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของ PBOC แทนนายหลิว ชีจิน และนายไค ฟาง ซึ่งต่างก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีอิทธิพลของรัฐบาลจีน
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายของ PBOC จะจัดการประชุมทุกไตรมาส เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจและนโยบาย และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายเมื่อจำเป็น แต่อิทธิพลของคณะกรรมการ PBOC นั้นมีแค่ในวงจำกัด
ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐบาลจีนได้แก้ไขกฎระเบียบสำหรับคณะกรรมการกำหนดนโยบายของ PBOC โดยมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างภาวะผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ให้มีความแข็งแกร่งในประเด็นนโยบายที่สำคัญ
ที่ผ่านมานั้น PBOC ไม่มีอิสระในการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินเหมือนกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐบาลจีนเมื่อมีการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยและมูลค่าของเงินหยวน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มี.ค. 67)
Tags: PBOC, จีน, ธนาคารกลางจีน, นโยบายการเงิน, แบงก์ชาติจีน