แนะรัฐบาล-ธปท.ทำงานเป็นเอกภาพรับความผันผวนทุนนิยมโลกาภิวัตน์

อนุสรณ์-ธรรมใจ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ประเทศไทยต้องการการทำงานที่เป็นเอกภาพของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้เกิดส่วนผสมของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง (Fiscal and Monetary Policy Mixed) อันสมดุล เพื่อรับมือความท้าทายความผันผวนของทุนนิยมโลกาภิวัตน์และผลกระทบสงครามในตะวันออกกลาง ยุโรป และเมียนมา ซึ่งจะช่วยบรรเทาและแก้ไขความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของกลุ่มประชาชนและเอสเอ็มอีที่ยังไม่พ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจโควิด การมีส่วนผสมของนโยบายทางการเงินและการคลังอย่างเหมาะสมจะช่วยทำให้ประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจดีขึ้น โดยจำเป็นต้องใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังไปพร้อมกันเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเต็มศักยภาพและมีการใช้อัตรากำลังการผลิตส่วนเกินเพิ่มขึ้น นำไปสู่การลงทุนใหม่ๆ

หาก ธปท.ใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มขึ้น ภาระต่อมาตรการทางการคลังจะลดลง และนำมาสู่การก่อหนี้สาธารณะลดลงได้ หาก ธปท.ไม่ลดดอกเบี้ยเนื่องจากต้องดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว หรือกังวลว่าจะเกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ ภาระในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ จะตกเป็นภาระต่อกระทรวงการคลังและมาตรการทางการคลังเพิ่มขึ้น มาตรการการคลังนั้นต้องผ่านขั้นตอนมากมายในระบบราชการและกระบวนการทางการเมือง ก่อให้เกิดความล่าช้าของเม็ดเงินงบประมาณปี 2567 ในการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

การกำกับดูแลระบบสถาบันการเงิน ระบบธนาคาร ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยทำให้ปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจดีขึ้น การก่อหนี้เกินตัว ลงทุนเกินตัว บริโภคเกินตัวจะลดน้อยลง ไม่มีปัญหาหนี้เสีย NPLs ในอนาคต อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลเดือน มี.ค.67 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลง 0.47% ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 137 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และอยู่ในระดับต่ำอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ตอกย้ำถึงเศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่ำ อัตราการใช้กำลังการผลิตยังต่ำ ทำให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินซึ่งต้องแก้ด้วยการกระตุ้นอุปสงค์ภายในและปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมส่งออกเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลก แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกในรอบ 7 เดือนในเดือน เม.ย.67 แต่เป็นบวกเพียงเล็กน้อย 0.19% เท่านั้นเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นจากสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง สินค้าเกษตรและอาหารหลายรายการราคาปรับตัวสูงขึ้น ผักสด และผลไม้สด ออกสู่ตลาดลดลงจากภัยแล้ง อุปสงค์ไม่ได้ร้อนแรง ไม่ได้มีสภาวะที่น่าวิตกกังวัลต่อปัญหาทางด้านเสถียรภาพและเงินเฟ้อแต่อย่างใด แรงกดดันเงินเฟ้อทางด้านอุปสงค์อาจเพิ่มขึ้นบ้างในช่วงปลายปีจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีจะอยู่ที่ไม่เกิน 1%

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและตลาดการเงินในต่างประเทศต้องจับตาปัญหาความเคลื่อนไหวปัญหาวิกฤตการณ์อสังหาริมทรัพย์ในจีน รัฐบาลจีนเน้นที่การออกมาตรการอสังหาฯ ของรายเมืองเฉพาะจุด ตลอดจนเน้นถึงโมเดลอสังหาหริมทรัพย์แบบใหม่ ที่เป็น Public Housing และ Rental Housing รวมถึงการวางแผนออกมาตรการเพื่อลด Inventory อสังหาริมทรัพย์ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนระยะสั้น มาจาก GDP ใน 1Q2567 ที่ดีกว่าคาด ความท้าทายเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่ เช่น อุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอ่อนแอ การเผชิญแรงกดดันในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ความเสี่ยงที่ซ่อนเร้นในส่วนหลักต่างๆ ของเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และอัตราส่วนการกันสำรองของธนาคาร (RRR) ควรถูกใช้อย่างยืดหยุ่นและผ่อนคลายเพื่อจะลดต้นทุนการระดมทุนของภาคเศรษฐกิจจริง ทั้งนี้ คาดว่า ธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ย RRR ลงอีกเพื่อมาเอื้อต่อการแนวโน้มการออกพันธบัตรพิเศษของรัฐบาลกลางและรัฐบาลกลางท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนนโยบายการคลังมีการเร่งใช้จ่ายเงินจากพันธบัตรพิเศษระยะยาวรัฐบาลกลาง 1 ล้านล้านหยวน และพันธบัตรพิเศษรัฐบาลท้องถิ่น 3.9 ล้านล้านหยวน สร้างเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ

ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปีเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้ร่วงลงผ่านระดับ 160 เยน/ดอลลาร์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2543 ด้วยสภาพคล่องที่เบาบาง หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ได้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.1% และจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป อย่างไรก็ตาม รมต.คลังญี่ปุ่นได้ส่งคำเตือนในช่วงก่อนหน้าว่า มีโอกาสเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้ได้เข้าแทรกแซงในเดือน ต.ค.65 และย้ำว่าจะตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า กระทรวงการคลังพยายามปรามนักเก็งกำไรจากการเพิ่มสถานะ Short ค่าเงินเยน คาดว่า แนวโน้มการดำเนินของบีโอเจกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังสวนทางกัน โดยบีโอเจมีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ และอาจพิจารณาลดการผ่อนคลายเชิงปริมาณลง ส่วนเฟดมีแนวโน้มลดดอกเบี้ย พร้อมลดการทำ Quantitative Tapering ความเคลื่อนไหวเหล่านี้อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในทางอ้อม มีแนวโน้มที่เงินบาทและเงินเยนอาจแข็งค่าขึ้นในระยะต่อไป

การเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานล่าสุดของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงน้อยกว่าตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ ทำให้เกิดความหวังว่าเฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยต้องนำเอามิติเสถียรภาพภายนอกและภายในมาพิจารณาร่วมกัน การไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นเก็งกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไม่ได้เป็นปัญหาของประชาชนส่วนใหญ่ แต่การบริหารนโยบายเพื่อให้เกิดความสมดุลของการบริภาค การออม การลงทุนภายในมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและประชาชนส่วนใหญ่มากกว่า การสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นในภาคเศรษฐกิจจริงผ่านส่วนผสมอันเหมาะสมของมาตรการการเงินและมาตรการการคลังจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนระยะยาว และแก้ปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจระยะสั้นได้ไปพร้อมกัน ธปท.ต้องพัฒนาให้ระบบการเงินมีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยจัดสรรเงินออมไปยังผู้ใช้เงินทุนที่มีประสิทธิภาพกว่า (Productive use of funds) ระบบการเงินและตลาดเงินที่ไม่พัฒนาและไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศไม่สามารถก้าวสู่ประเทศรายได้ระดับปานกลาง ระบบการเงินและตลาดเงินที่สามารถทำหน้าที่ได้ดีและมีประสิทธิภาพ (Well-functioning Financial Markets) ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น เมื่อไม่มีเงินทุน กิจกรรมการทางเศรษฐกิจจะสะดุดและหยุดชะงักได้ ธุรกิจเอกชนก็อาจสูญเสียโอกาสในการลงทุน รัฐบาลขาดแคลนเงินทุนก็ต้องชะลอการใช้จ่ายและการลงทุน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชนได้

รัฐบาลและ ธปท.ควรร่วมมือกันในการพัฒนาระบบการเงินแบบดิจิทัลขึ้นมาซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล กระบวนการในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจไทย จะเกิดขึ้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเมื่อประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลสนับสนุน การทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล รวมทั้ง ธปท.จึงมีความสำคัญ เอาเฉพาะระบบการเงินนั้น พัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้รูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่มีตัวกลาง (Decentralized finance-DeFi) ขยายตัวและต้นทุนทางการเงินต่ำลง การถือสกุลเงินดิจิทัลไว้เพื่อซื้อสินค้าและบริการได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลและการใช้บริการกู้เงินระหว่างกันผ่านแพลตฟอร์มโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางทางการเงิน แนวโน้มดังกล่าวทำให้ Fiat Money อาจมีบทบาทลดลงในภาคการเงิน (Adrian & Mancini-Griffoli, 2021) แนวโน้มดังกล่าว ธปท.ต้องทำงานในเชิงรุกและมีการตัดสินใจให้ชัดเจนว่าจะยอมเปิดให้มีธุรกรรมผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับไหน

ระบบการเงินแบบเดิมที่มีลักษณะรวมศูนย์ (Centralized Finance หรือ CeFi) จะลดความสำคัญลงเรื่อยๆ การใช้งบประมาณพิมพ์ธนบัตรเพื่อหมุนเวียนในระบบควรจะลดลง ในระบบการเงินแบบรวมศูนย์นั้นมีเงินอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภทแรก เงินที่ออกโดยรัฐ Public Money หรือ Fiat Money ประเภทที่สอง เป็นเงินที่ออกโดยเอกชน หรือ Private Money ที่มาต่อยอด เช่น การสร้างเงินฝากของระบบสถาบันการเงิน รวมทั้งการสร้าง e-Money ในลักษณะต่างๆ เนื่องจากเงินที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเป็นเงินเฟียต (Fiat Money) เป็นเงินตราที่อำนาจรัฐตราขึ้นให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายโดยไม่ได้มีโลหะมีค่าหนุนหลังเต็มจำนวน โดยที่สิ่งที่นำมาใช้เป็นเงินนั้นไม่ใช่โลหะมีค่า เช่น เงินธนบัตรก็เป็นเพียงกระดาษ การยกเลิกการผูกเงินกระดาษกับทองคำก็เพื่อให้ธนาคารกลางมีความสามารถในการพิมพ์เงินอัดฉีดสภาพคล่องและลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินเฟียตจึงเหมือนเป็นหนี้ของธนาคารกลางที่ออกมาให้คนถือครองโดยไม่จ่ายดอกเบี้ย มันมีค่าเพราะเราเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ เชื่อมั่นในระบบการเงินและธนาคารกลาง ความเชื่อมั่นต่อธนาคารกลาง และระบบธนาคารกลางจึงมีความสำคัญมากในระบบเงินเฟียต และประเทศต้องดำรงรักษาสิ่งนี้ไว้

การยกเลิกผูกเงินไว้กับทองคำทำให้ธนาคารกลางสามารถควบคุมนโยบายการเงินได้มากกว่าเดิม หากประชาชนหันไปใช้ Cryptocurrency มากขึ้นย่อมทำให้ความสามารถในการควบคุมปริมาณเงินโดยธนาคารกลางลดลง การแจกเงินดิจิทัลมีผลอย่างไรต่อระบบการเงินและปริมาณเงินในช่วงปลายปีนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาเพื่อบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม การออกแบบให้เงินดิจิทัลหมุนไปเพื่อซื้อสินค้าและบริการก่อนที่จะไปขึ้นเงินได้ มีผลต่อเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ควรศึกษาและติดตามผลให้ชัดเจน หากเงินดิจิทัลไม่ว่าออกโดยเอกชนในประเทศหรือต่างประเทศมีบทบาทมากขึ้น และสามารถทำหน้าที่ในการเป็นหน่วยวัดมูลค่า (Unit of Account) ดีขึ้น เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) ดีขึ้น เป็นหน่วยในการเก็บรักษาและสะสมมูลค่า (Store of Value) ดีขึ้น อาจจะส่งผลให้บทบาทของธนาคารกลางและอธิปไตยทางการเงิน (Monetary Sovereignty) ลดลง การออกเงินสกุลดิจิทัลรายย่อยของธนาคารกลาง (Retail CBDC) จะช่วยรักษาสมดุลระหว่าง Fiat Money กับสกุลดิจิทัลทางเลือก ทำให้ส่งผลกระทบต่ออธิปไตยทางการเงินลดลงได้บ้าง

ธนาคารกลางโดยทั่วไปจะออกแบบโครงสร้างแบบ 2 ชั้น (Two-tier System) เพื่อให้ประชาชนที่ถือ Private Money สามารถแลกกลับมาเป็น Fiat Money ได้ ทำให้ประชาชนที่ถือเงินมีความปลอดภัยและเงินที่ถือมีสภาพคล่องสูง เงินทั้งสองรูปแบบในระบบการเงินแบบรวมศูนย์นี้จะช่วยสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยเอกชน กับบทบาทเงินภาครัฐที่เน้นเสถียรภาพเชิงระบบ ในระบบนี้ธนาคารกลางจะทำหน้าที่ผู้ให้กู้แหล่งสุดท้าย (Lender of Last Resort) อันเป็นกลไกค้ำประกันความมั่นคงของระบบการเงิน การออกแบบโครงสร้างระบบการเงินต้องเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ หาก e-Money เงินดิจิทัล รูปแบบชำระแบบใหม่ๆที่อาจเกิดขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีบทบาทมากขึ้นตามลำดับ ระบบและโครงสร้างแบบเดิมจะรองรับธุรกรรมได้อย่างไรเพื่อให้ “เงิน” “ระบบสถาบันการเงิน” “ตลาดการเงิน” และ “ระบบการชำระเงิน” สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ในระบบเศรษฐกิจแห่งอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 67)

Tags: , , , , ,