แนวโน้มราคาสดใส หนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลปี 67 โตต่อได้ แม้เผชิญภัยแล้ง

อุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 67 ยังมีแนวโน้มขยายตัว แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งรุนแรง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากราคาที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง และนโยบายควบคุมการส่งออกน้ำตาลของอินเดีย โดยประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 67 มีดังนี้

  • การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 67 จะยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าน้ำตาลในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มเติบโต อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ยังคงมีความเปราะบางสูง จากผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก

  • นโยบายควบคุมการส่งออกน้ำตาลของอินเดีย จะส่งผลให้ราคาน้ำตาลโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีหน้า เนื่องจากอินเดียเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลที่สำคัญของโลก ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายควบคุมการส่งออกของอินเดีย ยังมีความไม่แน่นอนสูง จากกรอบเวลาและความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายที่ไม่ชัดเจน

  • ปัญหาภัยแล้ง ปริมาณฝนที่น้อยกว่าค่าปกติในหลายพื้นที่ของไทยในปีนี้จากปรากฎการณ์เอลนีโญ จะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตอ้อยในฤดูกาลผลิต 2566/67 เนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่ต้องการน้ำมา กและพื้นที่เพาะปลูกอ้อยส่วนใหญ่ของไทย พึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก

SCB EIC คาดว่า รายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 67 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย โดยได้รับปัจจัยหนุนจากราคาที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยชดเชยปริมาณผลผลิตที่ลดลงค่อนข้างมาก โดยปริมาณผลผลิตน้ำตาลไทยในปีการผลิต 2566/67 มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 20.9% มาอยู่ที่ 8.7 ล้านตัน ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบของไทยที่คาดว่าจะลดลง 15.7%YOY มาอยู่ที่ 79.1 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลจากผลผลิตต่อไร่ที่จะปรับตัวลดลงจากภาวะภัยแล้ง ทั้งนี้ พื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือ จะมีปริมาณผลผลิตอ้อยลดลงค่อนข้างมาก จากภาวะฝนแล้งที่รุนแรงกว่าภูมิภาคอื่นๆ

ในขณะที่ราคาส่งออกน้ำตาลโดยเฉลี่ยในปี 67 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 21.6%YOY มาอยู่ที่ 620.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน สอดคล้องกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในปีนี้ และคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า เนื่องจากคาดว่าตลาดน้ำตาลโลกจะเผชิญภาวะขาดดุล ประกอบกับอินเดียมีแนวโน้มที่จะลดโควตาการส่งออกน้ำตาลลงอีกในฤดูกาลผลิตหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลโลกในปี 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 26.1 เซนต์ต่อปอนด์

สำหรับมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปี 67 คาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่มูลค่าตลาดน้ำตาลในประเทศจะอยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 12%YOY จาก 1. ปริมาณการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ 2. ราคาน้ำตาลในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากนโยบายภาครัฐ

สำหรับในระยะกลาง อุตสาหกรรมน้ำตาลยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากปริมาณผลผลิตน้ำตาลของไทย และความต้องการบริโภคน้ำตาลทั้งในและต่างประเทศ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

*อุตสาหกรรมน้ำตาลปี 67 ยังเผชิญอีกหลายความท้าทาย

SCB EIC มองว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 67 และในระยะต่อไป ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้าน ดังนี้

  • ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิ จและนโยบายด้านการเกษตรของประเทศคู้ค้า/คู่แข่ง ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น จากเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น นโยบายด้านการเกษตรของประเทศต่างๆ ก็มีความไม่แน่นอนมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งสภาวการณ์ดังกล่าว จะส่งผลให้อุตสาหกรรมน้ำตาลซึ่งพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดโลกต้องเผชิญกับความผันผวนมากขึ้นตามไปด้วย

  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) จะทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมน้ำตาล ต้องเผชิญกับผลประกอบการที่มีความผันผวนมากขึ้น จากทั้งต้นทุนการผลิต และปริมาณวัตถุดิบที่มีความไม่แน่นอนสูง

  • นโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low carbon economy) เช่น มาตรการการค้าระหว่างประเทศ การเก็บภาษีคาร์บอน เป็นต้น ซึ่งแรงกดดันเหล่านี้ จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

  • ความยั่งยืน (Sustainability) เป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์สำคัญของโลกที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาล โดยผู้บริโภคหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ มีแนวโน้มที่จะหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมากขึ้นในอนาคต

SCB EIC มองว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมน้ำตาลจำเป็นต้องเร่งปรับตัว เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว และยกระดับศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนสูงของภาวะเศรษฐกิจ กฎระเบียบ และข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และนโยบายด้านต่างๆ ของประเทศคู่ค้า/คู่แข่ง เช่น นโยบายด้านการผลิตและการค้าน้ำตาลของอินเดีย และบราซิล นโยบายพึ่งพาตนเองด้านอาหารของประเทศคู่ค้าสำคัญ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ต้องกระจายการส่งออกไปยังตลาดส่งออกที่หลากหลาย เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไปและมีการจัดทำแผนฉุกเฉินต่อความเป็นไปได้ของฉากทัศน์ (Scenario) ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมไปถึงการลงทุนเพื่อให้สามารถคว้าโอกาสและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกระแสความยั่งยืน เช่น การช่วยสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยสามารถลงทุนในแหล่งน้ำ หรือการสร้างแรงจูงใจให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เป็นต้น รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านระบบการผลิตไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำร่วมด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ธ.ค. 66)

Tags: , ,