รายงานข่าวจากรัฐสภา ระบุถึงกรณีที่คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีนายนิกร จำนง เป็นประธานอนุกรรมการฯ ได้รับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนรัฐสภา ผ่าน 2 กรรมาธิการ (กมธ.) คือ กมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.เป็นประธาน เมื่อ 30 ต.ค.66 และ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาน ที่มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน เมื่อ 2 พ.ย.66
โดยในการหารือวงปิดใน 2 กมธ. ดังกล่าว นอกจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการออกเสียงประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญแล้ว อนุกรรมการฯ ได้นำเสนอร่างคำถามการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา และตัวแทนประชาชนกลุ่มต่างๆ เกี่ยวกับแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ใน 3 ประเด็นคำถาม ดังนี้
1. ท่านเห็นสมควรจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่
2. ท่านต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างไร
(1) ทั้งฉบับ โดยคงไว้ซึ่งหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์
(2) แก้ไขรายมาตรา
3. ในการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ท่านเห็นสมควรจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาดำเนินการหรือไม่
นอกจากนั้น ยังพบว่า อนุกรรมการฯ ยังได้สอบถามถึงประเด็นจำนวนครั้งของการทำประชามติ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีต่างๆ ดังนี้
1.ออกเสียงประชามติ 1 ครั้ง ก่อนเริ่มแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ที่กำหนดว่าประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ
2.ออกเสียงประชามติ 1 ครั้ง กรณีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 เพื่อกำหนดที่มาของ ส.ส.ร.
3.ออกเสียงประชามติ 1 ครั้ง เมื่อนัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ เพื่อให้ประชาชนเห็นชอบ ก่อนที่นายกฯ จะนำร่างรัฐธรรมนูญทูลเกล้าฯ
พร้อมกับตั้งคำถามว่า ในการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ท่านเห็นสมควรจัดให้มีการออกเสียงประชามติกี่ครั้ง คือ
1. 1 ครั้ง
2. 2 ครั้ง
3. 3 ครั้ง
4. มากกว่า 3 ครั้ง
นายนิกร กล่าวว่า อนุกรรมการฯ จะส่งร่างคำถามประชามติไปยังสมาชิกรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย สว. และ สส. ให้ตอบในช่วงเปิดประชุมสภาฯ สมัยหน้าในเดือนธ.ค.นี้ โดยจะนำส่งให้เป็นรายบุคคลในวันที่มาประชุมสภาฯ โดยจะไม่ใช้วิธีส่งเป็นจดหมายไปที่บ้าน หรือที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ย. 66)
Tags: กมธ., รัฐธรรมนูญ, รัฐสภา, สว., สส., แก้ไขรัฐธรรมนูญ