แก้ กม.คุ้มครอง “พยาน-ผู้เสียหาย” อายุเกิน 18 ปี คดีทางเพศ-ความรุนแรงในครอบครัว

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อคุ้มครองพยานและผู้เสียหายที่อายุเกิน 18 ปี ในคดีที่มีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง

โดยมีสาระสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับคำร้องทุกข์ การถามปากคำผู้เสียหายหรือพยาน การไต่สวนมูลฟ้อง การพิจารณาและการสืบพยานในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น คดีอนาจาร คดีข่มขืนกระทำชำเรา ฯลฯ หรือคดีที่มีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง เช่น คดีที่เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัว (ทำร้ายร่างกายบุคคลในครอบครัว ฯลฯ) เพื่อให้มีมาตรการคุ้มครองพยานและผู้เสียหายที่อายุเกิน 18 ปีได้เช่นเดียวกับการคุ้มครองพยานและผู้เสียหายที่ใช้กับผู้ที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี

ทั้งนี้ กำหนดให้การรับคำร้องทุกข์ การถามปากคำผู้เสียหายหรือพยาน ในคดีที่ผู้เสียหายหรือพยานในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือคดีที่มีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง ต้องแยกกระทำเป็นส่วนสัด และจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียง การถามปากคำภายใต้ความยินยอมของผู้เสียหายหรือพยาน กำหนดให้ศาลมีอำนาจในการจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายหรือพยานที่ได้บันทึกไว้ในขั้นสอบสวนหรือในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความของพยานนั้นในชั้นพิจารณาของศาล (กรณีพยานหรือผู้เสียหายที่มีอายุเกิน 18 ปี ในชั้นการพิจารณาของศาล ยังคงมาปรากฏตัวต่อศาลแต่หากเป็นพยานหรือผู้เสียหายที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี อาจไม่มาศาลได้หากมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง เช่น ป่วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ตรี วรรคสี่) ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบในหลักการ

เนื่องจากปัจจุบัน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้เสียหาย หรือพยานจากการนึกถึงความทรงจำ หรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรงไว้เฉพาะกรณีที่ผู้เสียหาย หรือพยานนั้นเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี โดยการกำหนดให้มีสหวิชาชีพร่วม (บุคคลในสาขาอาชีพต่าง ๆ) เข้ามามีบทบาทในชั้นการสอบสวน ภายใต้สถานที่ที่เป็นส่วนสัดสำหรับเด็ก ทั้งยังห้ามถามปากคำเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร และยังกำหนดให้สามารถนำสื่อภาพและเสียงที่ได้บันทึกไว้ในชั้นสอบสวน มาถ่ายทอดในชั้นศาลแทนการเบิกความในชั้นศาล เพื่อป้องกันผลร้ายที่จะเกิดขึ้นกับเด็กนั้น

“หลักการคุ้มครองผู้เสียหาย หรือพยาน จากการนึกถึงความทรงจำ หรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรงดังกล่าว ไม่ครอบคลุมไปถึงผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นบุคคลอายุเกิน 18 ปี ซึ่งหากเป็นกรณีผู้เสียหายหรือพยานเป็นบุคคลอายุเกิน 18 ปี แม้ว่าการเบิกความในชั้นศาล จะส่งผลร้ายหรือผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของบุคคลนั้นอย่างรุนแรง แต่ก็ไม่สามารถใช้มาตรการใดเพื่อคุ้มครองบุคคลดังกล่าวได้โดยตรง คงใช้ได้แต่มาตรการที่คุ้มครองในด้านอื่น ๆ เช่น การสืบพยานโดยไม่เผชิญหน้าโดยตรงกับจำเลย ซึ่งแม้ว่าอาจแก้ปัญหาเกี่ยวกับความกลัวเกรงที่ผู้เสียหายมีต่อจำเลยได้ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาสภาพจิตใจของผู้เสียหายจากการต้องนึกถึงข้อเท็จจริงที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจได้” นายคารม กล่าว

โดยกระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมติ ครม.เมื่อวันที่ 19 พ.ย.62 เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม.แล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 เม.ย. 68)

Tags: , , , , ,